นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากสภาวะที่ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักบางแห่งกับลมกระโชกแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา รวมถึงการคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ที่เปิดเผยว่าปริมาณน้ำฝนในปี 2561 จะมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคมที่ปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10% ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มทั้งหมด อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดขอนแก่นและสกลนคร แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณจังหวัดสุโขทัย สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และกรุงเทพมหานคร รวมถึงพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจำนวน 28 พื้นที่
นายอัฐพล กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น กนอ. จึงได้กำชับให้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศทั้ง 55 แห่ง เตรียมพร้อมเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และให้ยกระดับแผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันอุทกภัยของแต่ละนิคมฯ พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังดำเนินการตามมาตรการภาวะฉุกเฉินอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทย และต่างชาติ รวมถึงชุมชนรอบนิคมฯ โดยได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันน้ำท่วมเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทุกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ตรวจสอบทั้งในด้านเทคนิคและกายภาพ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วม และประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ และเตรียมความพร้อมในส่วนอุปกรณ์ให้เพียงพอ รวมถึงความพร้อมของสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชม. รวมทั้งความพร้อมของเขื่อนติดตั้งเร็ว
สำหรับการเตรียมความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมของนิคมฯ ทั้ง 3 แห่ง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่นิคมฯ บางปะอิน, นิคมฯ บ้านหว้า และนิคมฯ สหรัตนนคร ซึ่งถือเป็นพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมมากที่สุด กนอ.ได้ให้นิคมฯ ทั้ง 3 แห่ง ทำการตรวจสอบและเสริมความแข็งแรงของเขื่อนดินกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีความสูงเฉลี่ย 5.4 - 7.5 เมตร พร้อมกับให้ทั้ง 3 นิคมฯ จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ โดยร่วมมือกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด พร้อมกับร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการระบายน้ำจากทั้ง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งการติดตามปริมาณน้ำฝนจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และข่าวสารสถานการณ์ในพื้นที่ จากคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประจำทุกวัน พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ทำการสำรวจ ตรวจสอบ ซ่อมแซมและบำรุงรักษา ความมั่นคง แข็งแรง ของคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ และตรวจสอบระดับน้ำ โดยรอบแนวถนนทางหลวงระยะทาง 32.5 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา