นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงมาตรการซื้อเรือประมงคืนของรัฐบาลว่า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยการจัดซื้อจะดำเนินการในราคาตามสภาพที่แท้จริง แต่จะไม่เกิน 50% ของราคากลางที่ได้จัดทำไว้ โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติ เรือที่เข้าร่วมโครงการฯ นั้น 80% เป็นเรือขนาดเล็ก สำหรับในส่วนของเรือลำที่ยังมีสภาพดีจะนำไปทำเป็นปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ การซื้อเรือคืนถือเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ที่แสดงความสมัครใจออกจากระบบการประมงได้มีทุนในการไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทั้งนี้ ในเรื่องการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำนั้น กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการในหลายมาตรการควบคู่กันไป เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน การกำหนดเขตห้ามเรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และมาตรการกำหนดวันทำการประมงให้กับเรือที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำ เป็นต้น
อนึ่ง โครงการซื้อเรือคืนนั้นได้ถูกบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการประมงทะเล (FMP) ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 แผนดังกล่าวเป็นการซื้อเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมงออกนอกระบบ เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะกลับมาทำประมงผิดกฎหมายอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนเรือประมงให้สอดคล้องกับกับสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ และเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน
สำหรับการทำการประมงโดยใช้เครื่องมือทำการประมงอวนลากนั้น เป็นการใช้เครื่องมือตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำเป็นการโดยทั่วไปในประเทศต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจึงต้องมีการควบคุมประสิทธิภาพทั้งในด้านพื้นที่ทำการประมง โดยไม่สามารถทำการประมงในเขตประมงชายฝั่ง (3 ไมล์ทะเล) ได้ การควบคุมประสิทธิภาพของเครื่องมือโดยการกำหนดมาตรฐานของเครื่องมือ เช่น การควบคุมความยาวของเชือกคร่าวล่าง ต้องไม่เกินตามกำหนดไว้ในใบอนุญาต กำหนดจำนวนถุงอวนในอวนลากบางชนิด หากใช้เครื่องมือที่แตกต่างออกไปจะเป็นความผิดตามกฎหมาย มีการกำหนดขนาดของช่องตาอวนก้นถุงไม่ให้เล็กเกินไป (ต้องเกินกว่า 4 เซนติเมตร) เพื่อมิให้มีการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีการกำหนดควบคุมจำนวนเรืออวนลากและเครื่องมือประสิทธิภาพสูงอื่นทุกชนิดด้วย
ส่วนประเด็นข้อเสนอจากประมงพื้นบ้านที่เรียกร้องให้มีการศึกษาว่าเครื่องมือทำการประมงประเภทอวนลากทำลายทรัพยากรหรือไม่นั้น กรมประมง กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มประมงพาณิชย์ และสถาบันการศึกษา อยู่ระหว่างร่วมกันศึกษาอยู่ หากผลการศึกษาเป็นประการใดก็จะนำมากำหนดเป็นมาตรการต่อไป
"การออกใบอนุญาตทำการประมงของเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงทุกชนิด จะมีการกำหนดห้วงเวลาในการทำการประมงในแต่ละปี จะต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ เช่น เครื่องมืออวนลากฝั่งอ่าวไทย กำหนดไว้ไม่เกินปีละ 240 วัน เครื่องมืออวนลากฝั่งอันดามันไม่เกินปีละ 270 วัน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน ตามที่กำหนดหลักการไว้ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำคงอยู่ต่อไปให้ชาวประมงรุ่นต่อๆ ไปสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป"นายอดิศร กล่าว