สาธารณสุข ยันไม่มีผู้ป่วยไข้หวัดนกในไทย แต่เฝ้าระวังต่อเนื่องใน 3 ระดับ หลังปท.เพื่อนบ้านพบเชื้อ H5N6

ข่าวทั่วไป Friday August 3, 2018 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคยังเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องทั้งในและนอกประเทศ ทุกด่าน ทุกช่องทาง เนื่องจากสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีรายงานพบเหตุการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยล่าสุดมีรายงานข่าวประเทศเพื่อนบ้านมีการกำจัดสัตว์ปีกหลายหมื่นตัว เนื่องจากพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6

ส่วนประเทศไทยผู้ป่วยรายสุดท้ายที่มีรายงานคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมอีก ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก จากอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกในหลายพื้นที่ อาจพบสัตว์ปีกป่วยตายได้ ประกอบการการรับเชื้อผ่านผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือจากนกอพยพ และการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทั้งบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น ยังมีการสั่งการให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องใน 3 ระดับ คือ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ โรงพยาบาล และชุมชน โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จะมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน เช่น กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพของคนไทย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีการจัดซ้อมแผนรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วย การสอบสวน ป้องกันและควบคุมโรค เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม หากตรวจพบเหตุการณ์คล้ายโรคไข้หวัดนก

อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรป้องกันการรับเชื้อจากโรคต่างๆ โดยดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์ปีก รวมทั้งนกธรรมชาติ ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (มีไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ และเจ็บคอ) ภายในช่วง 14 วัน หลังกลับจากพื้นที่หรือสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วยตาย ควรสวมหน้ากากอนามัยและรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ