ปภ.เผยมี 9 จังหวัดประสบอุทกภัย ประสาน 47 จังหวัดรับมือฝนระลอกใหม่ 5-8 ส.ค.

ข่าวทั่วไป Saturday August 4, 2018 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยได้สั่งการให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย 47 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นหลังกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศแจ้งเตือนว่า ในช่วงวันที่ 5-8 สิงหาคม 2561 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ทุกภาคมีฝนตกเพิ่มขึ้น และอาจมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-4 เมตร เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

โดยแยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก พะเยา แพร่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนัก ตลอดจนกำชับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ภัยให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "เซินติญ" ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม-3 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 27 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ระนอง เพชรบุรี ประจบคีรีขันธ์ ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ พะเยา เชียงราย กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด และยโสธร รวม 85 อำเภอ 302 ตำบล 1,936 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,659 คน 99,456 ครัวเรือน

โดยขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 18 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 9 จังหวัด รวม 51 อำเภอ 246 ตำบล 1,741 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 34,012 ครัวเรือน 89,068 คน ได้แก่ นครพนม เกิดฝนตกหนักและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอปลาปาก อำเภอท่าอุเทน อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอธาตุพนม อำเภอบ้านแพง อำเภอนาแก อำเภอวังยาง อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า และอำเภอนาทม รวม 90 ตำบล 878 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,256 ครัวเรือน 26,898 คน บ้านเรือน 29 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 179,704 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

มุกดาหาร เกิดฝนตกหนักและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดงหลวง อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล อำเภอหว้านใหญ่ อำเภอหนองสูง และอำเภอคำชะอี รวม 52 ตำบล 406 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,443 ครัวเรือน 38,355 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 28,582 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เทศบาลเมืองมุกดาหาร บริเวณตลาดอินโดจีน

อำนาจเจริญ เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำน้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน และอำเภอชานุมาน รวม 8 ตำบล 29 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 533 ครัวเรือน 1,922 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 5,548 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอโขงเจียม อำเภอนาตาล อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอเขื่องใน รวม 14 ตำบล 86 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,627ครัวเรือน 4,163 คน อพยพ 43 ครัวเรือน 215 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 4,835 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

บึงกาฬ เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย และอำเภอศรีวิไล รวม 16 ตำบล 79 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 309 ครัวเรือน 2,702 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 2,706 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

สกลนคร เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนนาแก้ว อำเภอเต่างอย อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโคกศรีสุพรรณ และอำเภอพรรณานิคม รวม 9 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 104 ครัวเรือน 300 คน นาข้าวเสียหาย 240 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น ร้อยเอ็ด เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ และอำเภอโพนทอง รวม 15 ตำบล 80 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,971 ครัวเรือน 9,534 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง กาฬสินธุ์ เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย และอำเภอฆ้องชัย รวม 18 ตำบล 68 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 877 ครัวเรือน 1,646 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ยโสธร เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอไทยเจริญ อำเภอป่าติ้ว อำเภอกุดชุม และอำเภอคำเขื่อนแก้ว รวม 24 ตำบล 105 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,892 ครัวเรือน 3,548 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ