นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดต่อที่นำโดยยุงลายของประเทศไทยในปี 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 37,793 ราย เสียชีวิต 45 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน(ร้อยละ 49.1) และจากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงปัจจุบันมีจำนวนสูงขึ้นถึงร้อยละ 45.6 เมื่อเทียบกับปี 2560 สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในปี 2561 มีรายงานพบผู้ป่วย 201 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว จากรายงานพบว่า จำนวนผู้ป่วยในปี 2561 น้อยกว่าช่วงสัปดาห์เดียวกันของปี 2560 และมีแนวโน้มลดลง โดยพบผู้ป่วยประปราย ไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ในปี 2561 พบผู้ป่วย 79 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 25-34 ปี (ร้อยละ 26.6) ผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในภาคใต้ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือสตูล นราธิวาส และภูเก็ต
สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคติดต่อที่นำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน และจากการพยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ควรร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และนำวัสดุเหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม เก็บแล้วรวย และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งมาตรการนี้เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อที่นำโดยยุงลายและโรคติดต่อนำโดยแมลงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ถ้าประชาชนมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย พบจ้ำเลือดหรือผื่นแดง ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422"