(เพิ่มเติม) สทนช. เฝ้าระวัง-เร่งระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ หลังปริมาณน้ำมีระดับสูงเกินเกณฑ์ควบคุม

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2018 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ (6 ส.ค.)ว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุ ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนน้ำอูน เขื่อนวชิราลงกรณ

สำหรับเขื่อนแก่งกระจาน ได้เร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำ โดยกาลักน้ำ/เครื่องลูกน้ำ ส่งผลให้สามารถเลื่อนระยะเวลาน้ำล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) ออกไปอีก

ขณะที่เขื่อนน้ำอูนนั้น ได้ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้านลบ.ม.และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.3 ล้าน ลบ.ม. และได้แจ้งเตือนและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม

ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ์ สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย โดยได้ทยอยเพิ่มการระบายน้ำให้เป็น 43 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ภายในวันที่ 6 ส.ค.61 และแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่าปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 49,445 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 70% ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มี 3,129 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 61% รับน้ำได้อีก 23,445 ล้านลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน (102%) ขนาดกลาง 23 แห่ง (เพิ่มขึ้น 8 แห่ง) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 แห่ง (เพิ่มขึ้น 7 แห่ง) และภาคตะวันออก 1 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง)

อ่างฯเฝ้าระวัง (มากกว่า 80-100%) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง เขื่อนแก่งกระจาน (99%) เขื่อนศรีนครินทร์ (87%) เขื่อนวชิราลงกรณ์ (84%) ขนาดกลาง 67 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) แยกเป็น ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 แห่ง (เพิ่มขึ้น 5 แห่ง) ภาคตะวันออก 8 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) ภาคกลาง 2 แห่ง (เท่าเดิม) และภาคใต้ 3 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง)

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในจังหวัดเพชรบุรีว่า การบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจานยังควบคุมได้และเป็นไปตามแผน แม้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานจะมีค่อนข้างมาก ส่งผลให้น้ำที่ระบายออกจากประตูระบายน้ำปกติ ไหลเข้าสู่ทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน หรือ spillway แล้วก็ตาม แต่ไม่ใช่การล้นออกจากสันเขื่อนแต่อย่างใด นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ต่ำ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเพชรบุรีเพื่อเร่งให้ระบายออกทะเลโดยเร็วที่สุดด้วย

จากแผนการระบายน้ำ และการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง จะสามารถหน่วงน้ำให้เข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรีได้ช้าลง เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัวเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง และส่งผลกระทบในพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่เกษตรกรรมน้อยที่สุด

สำหรับพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการเยียวยาไว้แล้ว โดยจะดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและข่าวสารจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ