นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดย ปภ.ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 10-14 สิงหาคม 2561 พบว่า ร่องมรสุม พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ทุกภาคมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักในหลายพื้นที่
โดยปริมาณฝนสะสมที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมแม่น้ำ และพื้นที่ลาดเชิงเขา รวมถึงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมสูง 2-3 เมตร ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนเพชร เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำกักเก็บมาก การระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน ส่งผลให้เกิดระดับน้ำในลำน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำได้
ทั้งนี้ ส่งผลให้มีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอุทกภัย 57 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 15 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังคลื่นลมแรง 10 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และพังงา
โดย กอปภ.ก ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดเรือทุกประเภท ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังพร้อมตรวจสอบสภาพเรือให้มีความปลอดภัย และอุปกรณ์ชูชีพให้เพียงพอ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 36 อำเภอ 183 ตำบล 1,301 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,628 ครัวเรือน 63,855 คน ประกอบด้วย นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอปลาปาก อำเภอท่าอุเทน อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอธาตุพนม อำเภอบ้านแพง อำเภอนาแก อำเภอวังยาง อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า และอำเภอนาทม รวม 94 ตำบล 878 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,019 ครัวเรือน 37,540 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
อุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเขื่องใน รวม 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 509 ครัวเรือน 1,758 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำชีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอปากคาด และอำเภอศรีวิไล รวม 23 ตำบล 126 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,604 ครัวเรือน 8,736 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
สกลนคร ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอนิคมน้ำอูน รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1 ครัวเรือน 3 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ร้อยเอ็ด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมอำเภอเสลภูมิ รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12 ครัวเรือน 34 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย อำเภอดอนจาน และอำเภอร่องคำ รวม 23 ตำบล 86 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 961 ครัวเรือน 1,873 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ยโสธร น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอไทยเจริญ อำเภอป่าติ้ว อำเภอกุดชุม และอำเภอคำเขื่อนแก้ว รวม 24 ตำบล 105 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,451 ครัวเรือน 8,972 คน ปัจจุบันระดับน้ำในลุ่มน้ำเซบายเพิ่มขึ้น ส่วนระดับน้ำในลุ่มน้ำชีมีแนวโน้มลดลง
เพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอท่ายาง รวม 6 ตำบล 27 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 396 ครัวเรือน 1,714 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
และสุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนม อำเภอพระแสง และอำเภอชัยบุรี รวม 5 ตำบล 32 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 675 ครัวเรือน 3,225 คน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว