สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง เจาะใจคนเป็นหนี้ เรื่อง เศรษฐกิจและการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,104 ตัวอย่างดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 9-11 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อนเรื่องปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังมีความยากลำบาก และหวังพึ่งมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือปัญหาหนี้สิน ขณะที่ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งได้ข่าวว่าเศรษฐกิจประเทศดี
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ยังเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินครัวเรือน ในขณะที่ร้อยละ 37.2 ไม่เดือดร้อน โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 เป็นหนี้นอกระบบและร้อยละ 58.4 เป็นหนี้ในระบบ เช่น สถาบันการเงิน สินเชื่อ บัตรเครดิตต่างๆ และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 กำลังแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนด้วยความยากลำบาก ในขณะที่ร้อยละ 35.7 ระบุยังสามารถหมุนเงินได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.1 หวังพึ่งมาตรการของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 15.9 ไม่หวังพึ่งอะไรจากรัฐบาล
ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจ 5 กระทรวงหลักที่แก้ปัญหาหนี้ได้ตรงจุดของประชาชน พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 46.9 ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองลงมาคือร้อยละ 45.4 ระบุกระทรวงการคลัง ร้อยละ 41.1 ระบุกระทรวงกลาโหม ร้อยละ 35.6 ระบุกระทรวงแรงงานและร้อยละ 34.2 ระบุกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นอกจากนี้ ร้อยละ 39.2 ระบุธนาคารที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินได้ตรงจุด ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รองลงมาคือ ร้อยละ 36.6 ระบุธนาคารออมสิน ร้อยละ 35.8 ระบุธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร้อยละ 30.9 ระบุธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดยร้อยละ 48.7 ได้ข่าวว่าเศรษฐกิจของประเทศดี ร้อยละ 45.2 ได้ข่าวว่า เศรษฐกิจไม่ดี และร้อยละ 6.1 ไม่ได้ข่าว
เมื่อถามถึงเรื่องการเมืองแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.4 เห็นด้วยเพราะจะช่วยทำให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น แก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง ลดปัญหาโกงการเลือกตั้งลงได้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 39.6 ไม่เห็นด้วย เพราะกระทบต่อการเลือกตั้ง เป็นเกมการเมือง เพิ่มความซับซ้อนยุ่งยาก ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร เป็นต้น นอกจากนี้ เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.7 คิดว่าการแก้กฎหมายเลือกตั้งมีผลต่อการเลื่อนเลือกตั้ง แต่ร้อยละ 48.3 คิดว่าไม่มีผล