กรมป้องกันฯ สั่งการ 58 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากช่วง 15-18 ส.ค.

ข่าวทั่วไป Wednesday August 15, 2018 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก.ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ดินเริ่มชุ่มน้ำ อาจก่อให้เกิดดินโคลนถล่ม กอปรกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า พายุโซนร้อน "เบบินคา" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาว ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 15-18 สิงหาคม 2561 บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ คลื่นลมทะเลสูง 2-4 เมตร กอปภ.ก.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัย แยกเป็น

พื้นที่เฝ้าระวังดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ระนอง และพังงา

พื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยและดินโคลนถล่ม 54 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และ ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง 13 จังหวัด แยกเป็น ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ ริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา ชายฝั่งทะเล และจุดอ่อนน้ำท่วมขัง พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นที่เสี่ยงคลื่นลมแรง ให้ประสานหน่วยงานทางน้ำ อาทิ กรมเจ้าท่า กรมประมง และตำรวจน้ำออกลาดตระเวนแจ้งเตือนการเดินเรือทุกประเภท ทั้งเรือเล็ก เรือประมง เรือท่องเที่ยว เรือข้ามฟาก และเรือเฟอร์รี่ ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง มีอุปกรณ์ชูชีพให้เพียงพอ และงดการเดินเรือ หากทะเลมีคลื่นสูงและกำลังแรง รวมถึงเน้นย้ำให้มีการตรวจสภาพความพร้อมและความปลอดภัย ก่อนออกเรือทุกครั้ง

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง ตลอดจนหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที

นายชยพล กล่าวถึงอิทธิพลของพายุโซนร้อน "เซินติญ" และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 32 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง เพชรบุรี ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ พะเยา เชียงราย กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด ยโสธร หนองคาย พังงา สุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครนายก รวม 106 อำเภอ 388 ตำบล 2,247 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 49,120 ครัวเรือน 133,609 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 22 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 10 จังหวัด รวม 36 อำเภอ 183 ตำบล 1,291 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,896 ครัวเรือน 60,826 คน

ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ