พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเยี่ยมชมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว จ.จันทบุรีว่า การพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีความคืบหน้าไปมาก และเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สนับสนุนภาคการเกษตร พัฒนาแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ในเขต จ.จันทบุรี รวมทั้งช่วยเสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดให้เต็มศักยภาพนั้น จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 4 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำต้นทุนรวมกันได้ 308.5 ล้านลบ.ม. และมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 249,700 ไร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด มีความจุ 60.26 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 99.71%, อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว มีความจุ 80.70 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 23% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ มีความจุ 68.10 ล้านลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างเขื่อนหัวงานและเขื่อนปิดช่องเขา มีความก้าวหน้า 44.70% คาดแล้วเสร็จตามแผนในปี 2563 ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี
"หากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง พร้อมฝายคลองวังโตนดแล้วเสร็จ จะทำให้ลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นลุ่มน้ำตัวอย่างอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และผลักดันน้ำเค็ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทั่วทั้งลุ่มน้ำ เสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับลุ่มน้ำคลองวังโตนด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ หรือ "มหานครแห่งผลไม้" สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้สามารถผันน้ำส่วนเกินที่ส่งไปช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพื้นที่ EEC ได้อีกถึงปีละประมาณ 100 ล้านลบ.ม." พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุน EEC เพื่อรองรับการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว
สำหรับแนวทางการดำเนินการเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในระยะยาวของพื้นที่ EEC ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มอีกประมาณ 220 ล้านลบ.ม.ต่อปีนั้น สทนช.ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดหาน้ำต้นทุนในทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำทะเลรวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ความเหมาะสมในทุกมิติ และต้องสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและในอนาคตด้วย โดยปัจจุบัน สทนช.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป