นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ตอนล่างซึ่งเป็นผลมาจากควันไฟป่าและการเผาในที่โล่งจากเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงวันที่ 13-15 สิงหาคม 2561 นั้นมีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นสัปดาห์และสูงสุดในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ โดยมีปริมาณฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ระหว่าง 29-72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ยังไม่เกินค่าเกณฑ์มาตรฐาน (120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) อยู่ในระดับเฝ้าระวัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงวันที่ 13-14 สิงหาคม 2561 มีจุดความร้อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศอินโดนีเซีย จนถูกยกระดับเป็นมลพิษอากาศระดับปานกลางที่เกิดขึ้นจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง (Moderate Haze) อีกทั้งยังเกิดการเคลื่อนที่ของมวลอากาศจากพื้นที่มีจุดความร้อนหนาแน่นมายังภาคใต้ตอนล่าง มวลอากาศได้เคลื่อนตัวมาจากเกาะสุมาตรา ผ่านพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่งและไฟป่ามายังภาคใต้ตอนล่างของไทย
อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ในขณะนี้ยังไม่เกินค่าเกณฑ์มาตรฐาน ถือว่าเป็นระดับของการเฝ้าระวัง ซึ่ง สคร.12 สงขลา ขอแนะนำประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง ควรงดออกกำลังกายในที่แจ้ง เช่น การเดินเล่น เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน เตรียมยาและอุปกรณ์จำเป็นให้พร้อม หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ ส่วนเด็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง จำกัดเวลาสำหรับกิจกรรมนอกอาคาร และประชาชนทั่วไปยังคงสามารถปฏิบัติตนได้ตามปกติ
"ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) ในจังหวัดเขตภาคใต้ตอนล่างยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากปริมาณฝุ่นละออง PM10 ที่ตรวจวัดได้นั้นเกินค่าเกณฑ์มาตรฐาน (120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) อยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพ สคร.12 สงขลา ขอแนะนำให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ลดระยะเวลา และควรสวมหน้ากากปิดปากและจมูกป้องกันฝุ่นละออง สำหรับกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ควรจำกัดกิจกรรมที่ต้องใช้ระยะเวลาและออกแรงมากนอกอาคาร ส่วนประชาชนทั่วไป ควรลดกิจกรรมที่ต้องใช้ระยะเวลานานๆ และกิจกรรมออกแรงมากนอกอาคาร" นพ.สุวิช กล่าว
ทั้งนี้ หากสถานการณ์อยู่ในระดับมีผลกระทบรุนแรง ปริมาณฝุ่นละออง PM10 ที่ตรวจวัดได้นั้นมากกว่า 420 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรอยู่ในห้องที่มีคุณภาพอากาศปกติ (ห้องที่มีเครื่องกรองอากาศ/ ห้องปรับอากาศ)