นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกระลอก หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อน จนทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน โดยให้ผันน้ำออกทางคลองระบายน้ำ D9 ให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือส่งผลกระทบให้น้อยที่สุด
สถานการณ์ปัจจุบัน (17 ส.ค.61) เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำในอ่าง 741 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 104% ของความจุอ่างฯ ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีน้ำไหลลงอ่างฯ (ช่วง 10 – 17 ส.ค.61) รวมมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ได้ระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ และกาลักน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดทำแนวป้องกันการกัดเซาะปลายท่อกาลักน้ำให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถเพิ่มการทำงานของกาลักน้ำได้อีก 10 ชุด รวมของเดิมเป็น 22 ชุด ช่วยเร่งการระบายน้ำได้มากยิ่งขึ้น จากการติดตามระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจาน พบว่าบริเวณสถานีวัดน้ำ B3A อ.แก่งกระจาน มีน้ำไหลผ่านประมาณ 185 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 0.73 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเพชร วันนี้ (17 ส.ค. 61) มีการผันน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 4 สาย ในอัตรารวม 63 ลบ.ม./วินาที และเปิดระบายลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที โดยจะควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองเพชรบุรี ทั้งนี้ ได้รายงานสถานการณ์น้ำให้ทางจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่องแล้ว ส่วนระดับน้ำที่สถานี B15 ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.07 เมตร แนวโน้มทรงตัว
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเสริมรองรับการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน อาทิ การเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองส่งน้ำในที่ลุ่มต่ำไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวและการเกษตร การเสริมกระสอบทรายจุดตลิ่งต่ำสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่ยังไม่มีพนังกั้นน้ำ การเสริมตลิ่งคลองระบาย D9 ให้สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ และรถแบ็คโฮ เปิดทางน้ำผ่านจากคลองส่งน้ำลงสู่คลองระบายน้ำ ก่อนระบายลงสู่ทะเล ตามลำดับ จำนวน 19 จุด ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างก่อนออกสู่ทะเล กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง ในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า และติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง ในจุดเสี่ยงที่น้ำอาจเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ และหน่วยทหารพัฒนา จำนวน 20 ลำ และ 6 ลำ ตามลำดับ บริเวณสะพานวัดคุ้งตำหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในพื้นที่ปลายน้ำในเขต ต.บางครก อ.บ้านแหลม บางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำและจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุน ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้นั้น ทางจังหวัดเพชรบุรีได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อนหน้านี้แล้ว