สพฉ.เดินหน้าโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างท่วงที

ข่าวทั่วไป Sunday August 19, 2018 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) ว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทันที ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยจะมีกองทุนตามสิทธิการรักษารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤต แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง

ส่วนการเข้าถึงสิทธิดังกล่าว ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่าย 6 อาการฉุกเฉินวิกฤติ อาทิ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ซึ่งเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งนี้สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุและคัดกรองภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วย และประสานรถพยาบาลฉุกเฉินไปให้ความช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล โดยหากอาการเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต ค่ารักษาตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลจนถึงพ้นภาวะวิกฤตแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมงแรก โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเงินจากกองทุน แต่หากพ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤตแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติสมัครใจจะรักษาต่อที่เดิม ก็ต้องจ่ายค่ารักษาต่อเอง ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย สพฉ. ได้ตั้งศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ศคส.สพฉ.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการประเมินและตัดสินภาวะฉุกเฉิน ผ่านหมายเลข 02 872 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา ยังกล่าวถึง ผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตว่า ตั้งแต่ดำเนินการโครงการมา จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 มีประชาชนใช้บริการแล้วกว่า 1 แสนคน ประเมินเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตและได้รับสิทธิ UCEP แล้ว 2 หมื่นคน ส่วนอีก 8 หมื่นคน ไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต เฉพาะเดือนกรกฎาคม มีสถิติผู้ขอใช้สิทธิ 16,568 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 1,990 ราย ไม่เข้าเกณฑ์ 14,569 ราย และในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,313 ราย จากสิทธิประกันสังคม 308 ราย จากสิทธิข้าราชการ 365 ราย สิทธิกองทุนอื่นๆ 27 ราย และมีผู้ป่วยโทรขอรับการปรึกษา 284 ราย

ขณะที่รัฐบาลมีความพึงพอใจกับการดำเนินการ แต่ยังมีบางเรื่องที่ยังต้องพัฒนาและปรับแก้ไข เช่น การให้ประชาชนแจ้งเหตุผ่านระบบ 1669 มากขึ้น การผลักดันแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้รองรับนโยบาย UCEP ตลาดจนการพัฒนาความรู้ให้ประชาชนให้เข้าใจสิทธิ UCEP มากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ