"อนุสรณ์"ระบุความต้องการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกคาดจะขยายตัวราว 15% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า

ข่าวทั่วไป Sunday August 26, 2018 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลของการขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะต่อการผลิต ระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ว่า ความต้องการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 15% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2018-2020) และคาดการณ์ว่าจะมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ สัดส่วนประชากรในวัยแรงงานลดลง ราคาหุ่นยนต์ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น กรณีของไทย เมื่อเปรียบเทียบราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระยะเวลาการใช้งาน กับ ค่าจ้างแรงงานในปัจจุบันพบว่า การใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์เริ่มอยู่ในระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว ทำให้การใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80% แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ขณะที่ Economic Intelligence Unit (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่าแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้แรงงานกว่า 6.5 แสนคนหรือ 15% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในภาคการผลิตจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมภายในปี ค.ศ. 2030

กิจการในไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น "ผู้ซื้อ" และ "ผู้รับ" เทคโนโลยีมากกว่าเป็น "ผู้ขาย" และ "ผู้สร้าง" เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆก็ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก อุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งก็ร่อยหรอลง) และค่าแรงราคาถูก (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) ส่วนผู้ประกอบการหุ่นยนต์ไทยมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ความเชื่อมั่นในตราสินค้า ขนาดการผลิตไม่ใหญ่พอจึงไม่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด

แรงงานไทยทั้งหมด 39 ล้านคน ร้อยละ 45 เป็นเพศหญิงและร้อยละ 55 เป็นเพศชาย จากจำนวนทั้งหมดนี้ร้อยละ 67 จบการศึกษาชั้นประถม สะท้อนค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แรงงานที่มีการศึกษาต่ำและทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูงและจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่ประเทศขาดแคลนอยู่ คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน ระบบเสมือนจริง และ ระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป การส่งเสริมให้มีการ Reskill พัฒนาทักษะ ประสิทธิภาพและผลิตภาพให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจึงมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่า สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้นอยู่แล้ว ต้องทำให้ "มนุษย์" ทำงานร่วมกับ "หุ่นยนต์" และ "สมองกลอัจฉริยะ" ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้ และต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่และมีนโยบายที่ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กิจการในไทยโดยภาพรวมโดยเฉพาะ SMEs ยังลงทุนทางด้านเทคโนโลยีน้อย เนื่องจากเห็นว่า ยังมีต้นทุนสูงและขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ย่อมไม่สามารถอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยไม่ลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตเพราะไม่มั่นใจว่ากิจการหรือธุรกิจของตนจะประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ได้อย่างไร ขั้นตอนและกระบวนการผลิตส่วนใดที่สามารถใช้ได้และให้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า การลงทุนและการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในหลากหลายอุตสาหกรรมในต่างประเทศได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวอยู่ที่ 30-80% โดยเฉลี่ย