(เพิ่มเติม) สทนช. สั่งทุกหน่วยงานรวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำ พร้อมเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำหลังอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำสูง

ข่าวทั่วไป Thursday August 30, 2018 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความจุมากกว่า 50 ล้านลบ.ม. โดยจะต้องคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น พร้อมให้เสนอแผนเผชิญภาวะวิกฤติ แผนระบายน้ำ ตลอดจนแผนที่แสดงผลกระทบจากการระบายน้ำกรณีระบายน้ำปริมาณต่างๆ รวมทั้งให้บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน 80% และมีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบส่งเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้สทนช. เพื่อใช้สำหรับติดตามกำกับต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบระบบควบคุม อาคารบังคับน้ำต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดีใช้การได้ หากพบว่าชำรุดต้องเร่งซ่อมแซมโดยด่วน และขอให้หน่วยงานทหารให้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ทั้งด้านเครื่องกล เครื่องจักร และกำลังพล พร้อมทั้งให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านเทคนิคการดุแลบำรุงรักษา และการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขนาดเล็กที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้จัดทำคู่มือ (Check List) ในการตรวจสอบความมั่นคงของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นใช้เป็นคู่มือมาตรฐานในการตรวจสอบ การบำรุงรักษา และให้กรมทรัพยากรน้ำเชื่อมโยงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่มในระบบออนไลน์กับ สทนช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจังหวัดในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก แต่ก็มีอ่างเก็บน้ำจำนวนไม่น้อยที่มีปริมาณค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำน้อยด้วย โดยให้เตรียมการจัดทำแผนการส่งน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง หากพบว่ามีพื้นที่ที่จะเกิดภัยแล้ง หรือ ฝนทิ้งช่วง ให้ดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เช่น การทำฝนเทียม และขอให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการสำรวจ ถ้าพบว่าพื้นที่ใดแห้งแล้งก็ขอให้ทำฝนเทียมโดยไม่ต้องรอหน่วยงานร้องขอ

"รองนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีประสิทธิภาพ เพราะหากการบริหารจัดการดีจะไม่เกิดความเสียหาย หรือหากเกิดความเสียหายประชาชนต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และทุกหน่วยงานต้องมีความพร้อมตลอดเวลา หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะสามารถร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ และควรมีแผนการปฎิบัติงานที่ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การปฎิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด" เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จากจำนวน 12 แห่ง ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ปัจจุบันเหลือเพียง 9 แห่ง ซึ่งมีจำนวน 6 แห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ประกอบด้วย เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร, เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก, เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่บางระกำ ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล 382,000 ไร่ ที่ทำการเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 99% และอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวเพียง 1% ในส่วนของ 12 ทุ่งบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1.15 ล้านไร่ คาดว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายน 2561 นี้ เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดพร้อมรองรับปริมาณน้ำหลากตามแผนที่วางไว้ต่อไป


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ