นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไตรมาส 2 ปี 2561 พบว่ามีความเคลื่อนไหวด้านสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.9% เป็นการจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น 3.0% เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่วนนอกภาคเกษตรมีการจ้างงานทรงตัวเท่ากับไตรมาส 2 ปี 2560 แต่มีสัญญาณการจ้างงานที่ดีขึ้นในหลายสาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2561 และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวดี, สาขาโรงแรมและภัตตาคาร มีการจ้างงาน เพิ่มขึ้น 5.7% ตามการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสาขาการก่อสร้าง แม้การจ้างงานลดลง แต่เป็นการลดลงในอัตราที่ต่ำกว่า 5 ไตรมาสที่ผ่านมา
อัตราการว่างงาน เท่ากับ 1.1% เทียบกับ 1.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน ชั่วโมงการทำงานของแรงงานโดยรวมในไตรมาสสองปี 2561 เฉลี่ยเท่ากับ 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 0.1% โดยสาขาที่มีชั่วโมงการทำงานลดลงได้แก่ สาขาก่อสร้าง และค้าส่งค้าปลีก แต่สาขาหลักได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และโรงแรมและภัตตาคาร มีชั่วโมงการทำงานของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.9% 0.2% และ 0.3% ตามลำดับ สะท้อนกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสาขาดังกล่าว ค่าจ้างแรงงานแท้จริงภาคเอกชน ที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้น 0.7% ผลิตภาพแรงงานต่อคนเพิ่มขึ้น 3.7% เทียบกับ 3.4% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องเฝ้าระวังในระยะถัดไป คือ ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร จากภาวะฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2561 และภาวะน้ำหลากและอุทกภัยที่มักเกิดในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.ของทุกปี ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรและการมีงานทำของเกษตรกร ซึ่งต้องเฝ้าระวังเตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบในช่วงครึ่งหลังของปี 2561
ปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อรวมกับผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในไตรมาส 2 ปี 2561 ประมาณ 3.2 แสนคน อาจส่งผลให้มีผู้ที่ยังไม่ได้งานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานได้จัดให้มีบริการ "ศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center)" เพื่อจัดหางานให้ผู้จบปริญญาตรี โดยให้บริการจับคู่ตำแหน่งงานระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับผู้ประกอบการ ให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพ การฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และติดตามการมีงานทำรายบุคคล นอกจากนั้น ยังมีศูนย์บริการจัดหางาน เพื่อคนไทย (Smart Job Center) เป็นระบบที่เปิดให้ผู้สมัครงานเข้ามาค้นหาตำแหน่งงานที่สถานประกอบการประกาศ และสถานประกอบการเข้ามาค้นหาผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 มีผู้มาใช้บริการ 166,160 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่ 150,000 คน
ด้านหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2561 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัว 8.0% ด้านความสามารถในการชำระหนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 2.78% ในไตรมาส 1 ปี 2561 เป็น 2.72% ในไตรมาสนี้ โดยลดลงในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ โดยมาตรการรเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ ได้แก่ การออกมาตรการควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ การจัดอบรมความรู้ทางการเงินและบริหารจัดการให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ การกวดขันจับกุมผู้ปล่อยกู้ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ นอกจากนั้น ยังดำเนินการให้ความรู้ทางการเงิน และแนะแนวการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่บุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมการสร้างวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก และการดำเนินเนินชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยแก้ไขปัญาการก่อหนี้ที่เกิดจากความไม่ระมัดระวังและไม่จำเป็น
"ภาวะสังคมไตรมาส 2/61 พบว่าการจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น... แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังสามารถจัดการได้" เลขาธิการ สศช.ระบุ
ขณะที่สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาส 2 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 23.3% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น 63% แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 21% สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ 38.6% ของประเภทรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ภาครัฐให้ความสำคัญกับมาตราการป้องกันและลดอุบัติเหตุในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การรณรงค์การสร้างวินัยจราจรแก่ผู้ขับขี่ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยทางถนนที่นำไปสู่การลดอุบัติเหตุ อาทิ การปรับปรุงกฏหมายให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. .... และการบูรณาการพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ให้เป็นกฎหมายเดียวกัน