ครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เล็งเลือกระยอง-ศรีสะเกษ-สตูล ผุดสถานศึกษานำร่อง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 4, 2018 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างพ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษานำเสนอ เนื่องจากปัจจุบันการเรียนการสอนของประเทศไทยยังมีปัญหาในหลายๆ เรื่อง เช่น ไม่มีการบูรณาการระหว่างองค์กรที่มีหน้าที่ต่างๆ ในระบบการศึกษา ขาดกลไกและนโยบายในการนำไปปฏิบัติ และยังไม่มีการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปขยายผลทั้งระบบการศึกษา จึงเห็นสมควรให้มีเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Sandbox)

โดยที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาภายในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกภาคส่วนร่วมในการจัดการศึกษา คิดค้นและพัฒนาด้านนวัตกรรมการศึกษาและดำเนินการให้นำนวัตกรรมนั้นไปใช้ในสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะกำหนดให้ ครม.ประกาศกำหนดเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีการกำหนดโครงสร้างการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็น 2 ระดับ โดยระดับชาติจะมีคณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลขาฯคือคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ส่วนอำนาจหน้าที่ในการกำหนดเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กำหนดนโยบายและกำกับดูแลประเมินผล

สำหรับระดับเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้มีคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ที่ประกาศ โดยจะมีอำนาจหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์การกำหนดหลักสูตรในการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่อง

สำหรับการดำเนินการประกอบด้วยสถานศึกษานำร่อง ซึ่งมีอิสระในการจัดทำหลักสูตร พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสถานศึกษานำร่องสามารถนำเงินหรือทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้ไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

นอกจากนี้ ครม.อาจมีมติให้จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่สถานศึกษานำร่องที่ประสงค์จะขอรับเงินอุดหนุนดังกล่าว

นายณัฐพร กล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้ที่ใช้คำว่า Sandbox เนื่องจากระบบการศึกษาของไทยใช้นโยบายเดียวจากส่วนกลางและใช้เหมือนๆกันทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศก็มีความต้องการแตกต่างกันไป เช่น ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้เรื่องอุตสาหกรรมใหม่ๆ ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจึงได้เสนอไอเดีย Sandbox ขึ้น ทำให้แต่ละพื้นที่สามารถมีสถานศึกษานำร่องขึ้นมาได้ ซึ่งโรงเรียนไหนใช้ได้ผลก็จะขยายตัวอย่างนั้นไปใช้กับพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการ โดยจะส่งรายละเอียดไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และจะส่งกลับมาที่ ครม.อีกรอบหนึ่ง

ทั้งนี้ คาดว่า 3 จังหวัดแรกที่จะเริ่ม คือ ระยอง ศรีสะเกษ และสตูล เนื่องจากระยองมีรายได้ต่อหัวสูงสุดของประเทศและอยู่ในพื้นที่ EEC ขณะที่ศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดอันดับ 8 ของประเทศ ส่วนสตูลเป็นจังหวัดที่ความหลากหลายของชาติพันธุ์

"3 จังหวัดจึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าทำสำเร็จใน 3 จังหวัดนี้ที่อื่นก็ไม่น่าจะมีปัญหา"นายณัฐพร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ