นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สายงานปฎิบัติการ 1 เปิดเผยว่า กนอ.ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการเกิดอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยสูง โดยขณะนี้ได้สั่งการไปยัง 3 นิคมฯ ดังกล่าว รวมถึงนิคมฯอื่นๆ ให้มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและการติดตามสถานการณ์ประจำวันแล้ว เช่น การตรวจสอบระดับน้ำในคลองรอบนิคมฯ ตรวจสอบและซ่อมแซมเขื่อน/คันดินรอบนิคมฯ รวมถึงให้ติดตามข่าวสารและข้อมูลพยากรณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำทะเลหนุนของกรมอุทกศาสตร์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ รวมถึงการเตรียมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในกรณีที่เกิดอุทกภัย
สำหรับสถานการณ์น้ำและมาตรการเตรียมความพร้อมในนิคมฯ ทั้ง 3 แห่งนั้น ในส่วนนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก และเขื่อนพระรามหกยังอยู่ในระดับปกติโดยอัตราการระบายน้ำรวมทั้ง 3 เขื่อนเท่ากับ 1,729 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมีการก่อสร้างเป็นแนวคันดินแบบผสมผสาน ระดับของคันดินอยู่ที่ +7.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (MSL) รวมความยาวเขื่อน 7 กิโลเมตร
ด้านมาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยของนิคมฯ สหรัตนนครปีนี้ ล่าสุด ได้ดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำฝนและรางระบายน้ำฝน ภายในนิคมฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำฝนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ผู้ประกอบการทราบอยู่เป็นระยะ และได้ร่วมมือกับกรมชลประทานมาร่วมให้ข้อมูลแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม นอกจากนี้ ในปัจจุบันนิคมฯ ยังได้เตรียมปั๊มสูบน้ำจำนวน 5 เครื่อง ประกอบด้วย ปั๊มไฟฟ้าขนาด 5,400 ลบ.ม./ชม. จำนวน 3 เครื่อง (อยู่ที่สถานีสูบน้ำฝน) ปั๊มเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 2 เครื่อง ขนาด 600 ลบ.ม./ชม. อยู่บริเวณเขตอุตสาหกรรมทั่วไป (ติดตั้งแล้ว) กำลังสูบรวม 17,400 ลบ.ม./ชม. ซึ่งเครื่องสูบน้ำทั้ง 5 เครื่อง สามารถใช้งานได้ 100%
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ได้มีการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามตรวจสอบระดับน้ำและปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการนิคมฯ บางปะอิน โดยตรวจเช็คระดับน้ำ บริเวณจุดวัดระดับน้ำด้านนอกนิคมฯ ที่กำหนดเป็นจุดเฝ้าระวัง 3 จุด ได้แก่ จุดวัดระดับน้ำหน้าอำเภอบางปะอิน(หลังเก่า) ประตูน้ำคลองจิก และประตูน้ำคลองเปรมประชากร ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำ มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเกณฑ์เฝ้าระวังพบว่ายังอยู่ในระดับปกติ และขณะนี้ได้จัดเตรียมสถานีสูบน้ำไว้ 4 สถานี โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 18 เครื่อง ความสามารถการสูบ เท่ากับ 32,400 ลบ.ม./ชั่วโมง รวมทั้งมีการติดตั้งปั๊มสูบน้ำสำรองอีกจำนวน 3 เครื่อง ขนาด 600 ลบ.ม./ชั่วโมง ซึ่งสถานีสูบมีการติดตั้งและตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน (GENERATOR) ขนาด 450, 500 และ 800 KVA ที่ติดตั้งไว้ทุกสถานีพร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง ด้านความสูงของคันดินนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ระดับสูงสุดของเขื่อนอยู่ที่ +6.00 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล รวมระยะทางของคันดินกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งรูปแบบเขื่อนเป็นเขื่อนดินบดอัดแน่นพร้อมผนังคอนกรีตเสริมความลาดเอียงของคันดินป้องกันการซึมและการกัดเซาะของน้ำด้วยแผ่น Geotextile นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมภาวะฉุกเฉิน และศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และรายงานสถานการณ์ทุกวันต่อศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. โดย นิคมฯ ได้สื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในได้ทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน แบบเรียลไทม์
ทางด้านนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ได้จัดระบบติดตามสถานการณ์น้ำ ระบบระวังน้ำภายนอกและระบบแจ้งเตือนภัย โดยได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก รายงานสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา น้ำทะเลหนุนจากกรมอุทกศาสตร์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำประจำวันจากชลประทานพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพบว่าเกณฑ์การเฝ้าระวังทั้งหมดยังอยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมฯ บ้านหว้าเมื่อช่วงปี 2554 ได้มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมตามเกณฑ์การออกแบบที่ กนอ.ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตรกำหนด โดยความสูงของคันดินอยู่ที่ระดับ+5.40เมตร เหนือระดับน้ำทะเล รอบพื้นที่โครงการมีสันคันกว้าง2.50เมตรและฐานกว้าง10.60เมตร รวมระยะทางของคันดินกว่า 11กิโลเมตร รวมถึงยังได้จัดเตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์/เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยเครื่องสูบน้ำแบบ Submersible pump จำนวน 5 เครื่อง อัตราสูบ 10,800 ลบ.ม./ชม. รวมความสามารถสูบ 54,000 ลบ.ม./ชม. และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ใช้น้ำมันดีเซลรองรับ
ด้านนายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้ร่วมบูรณาการกับ กนอ.และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ในการหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ 93 เครื่อง ติดตั้งในจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 54 จุดทั่วพระนครศรีอยุธยา และรถสูบน้ำจำนวน 3 คัน 2. เตรียมพร่องน้ำจากลำคลองเพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ต่ำกว่าตลิ่งและอยู่ในระดับที่ปลอดภัย 3.การรายงานสถานการณ์ทุกวันเพื่อสื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในได้ทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน และตรวจเช็คปริมาณน้ำอย่างสม่ำเสมอ
"ปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า ช่วงเดือนกันยายนถึงจะทราบปริมาณน้ำ เพราะต้องประเมินจากปริมาณของฝนที่ตกลงมาก่อน" นายโบว์แดง กล่าว