นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก.ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า พายุโซนร้อน "บารีจัต" (BARIJAT) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกงและเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน 2561 และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้วันที่ 13-18 กันยายน 2561 ทุกภาคจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร กอปภ.ก.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย ประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ประกอบด้วย ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
นอกจากนี้ยังได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่เดิม และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์มาก อาจมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หากสถานการณ์คลื่นลมแรง ขอให้ชาวเรือ ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือ เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ส่วนผลกระทบจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม-12 กันยายน 2561 ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร ลพบุรี นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสระบุรี รวม 108 อำเภอ 488 ตำบล 2,719 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,832 ครัวเรือน 203,054 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี หนองคาย และอุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 7 จังหวัด รวม 33 อำเภอ 162 ตำบล 1,233 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,174 ครัวเรือน 80,966 คน