นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 2/2561 มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อนุสรณ์สถานแหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำเสนอเป็นมรดกโลกต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หลังจากที่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) เมื่อปี 2558
"ขณะนี้คณะทำงานจัดทำเอกสารเสร็จแล้ว โดยจะนำเสนอเอกสารต่อศูนย์มรดกโลกเพื่อให้มีการตรวจสอบพิจารณาก่อนจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลกในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดการนำเสนอเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมคือภายในวันที่ 30 กันยายน 2561" นายวีระ กล่าว
รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับรายงานความคืบหน้าการจัดทำเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เพื่อเสนอยูเนสโกพิจารณาเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก ขณะนี้คณะทำงานจัดทำเอกสารได้จัดทำเอกสารฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเสร็จแล้ว โดยได้เพิ่มเกณฑ์พิจารณาคุณค่าโดดเด่นความเป็นสากลของแหล่งมรดกวัฒนธรรมดังกล่าวอีก 1 เกณฑ์ คือ เกณฑ์ที่ 3 จากที่เดิมกำหนดเกณฑ์พิจารณาฯ อยู่ในเกณฑ์ที่ 2 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้คณะทำงานจัดทำเอกสารปรับปรุงเนื้อหาเอกสารนำเสนอให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งให้จัดประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาให้ความรู้และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประวัติศาสตร์และการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงเนื้อหาเอกสารนำเสนอให้มีความครบถ้วนและรอบด้านมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าการจัดทำเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรม กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด เพื่อเตรียมเสนอยูเนสโกพิจารณาเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก โดยกำหนดเกณฑ์พิจารณาคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลตามเกณฑ์ของยูเนสโกในเกณฑ์ที่ 3 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นให้คณะทำงานจัดทำเอกสารไปปรับปรุงเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรมดังกล่าว โดยเพิ่มเติมการกำหนดเกณฑ์พิจารณาคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลในเกณฑ์ที่ 4 และเกณฑ์ที่ 5 เนื่องจากแหล่งมรดกวัฒนธรรมกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ทรงคุณค่ามีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในหลายด้านรวมไว้ด้วยกันทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมฝีมือช่าง วิศวกรรมเทคนิคการก่อสร้าง ชลประทานและการปกครองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18
อย่างไรก็ตาม ปราสาทพนมรุ้งสร้างจากหินทรายสีชมพูตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเขาใกล้กับปล่องของภูเขาหินอัคนีซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าที่ดับแล้ว ทำให้มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมที่พิเศษเฉพาะตัว นอกจากนี้จากการใช้เทคโนโลยี LiDAR สำรวจพื้นที่พบว่า ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทปลายบัด ปราสาทเมืองต่ำมีการจัดการน้ำภายในพื้นที่และเชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นระบบและใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและดำรงชุมชนควบคู่ไปกับการสร้างเทวสถานจำลองแผนผังเขาพระสุเมรุและจักรวาลในคติความเชื่อของศาสนาฮินดูลัทธิบูชาพระศิวะเป็นใหญ่ โดยดัดแปลงปากปล่องภูเขาไฟเป็นสระน้ำ มีการขุดสร้างบาราย (สระน้ำโบราณ) ขนาดใหญ่และขนาดเล็กในตำแหน่งที่เชื่อมโยงกันโดยใช้ทางน้ำธรรมชาติและการสร้างคันบังคับน้ำ รวมทั้งพบว่ามีชุมชนโบราณตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 40 แหล่งบางแหล่งมีการใช้พื้นที่เป็นแหล่งโลหะกรรม การถลุงเหล็ก