กรมชลฯ กำชับเฝ้าระวังทุกอ่างเก็บน้ำอย่างใกล้ชิดเตรียมพร้อมรับมือพายุ "บารีจัต-มังคุด"

ข่าวทั่วไป Wednesday September 12, 2018 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน พายุโซนร้อน "บารีจัต" (BARIJAT) บริเวณทะเลจีนใต้ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกง และเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย.61 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น

ส่วนพายุไต้ฝุ่น "มังคุด" (MANGKHUT) จะส่งผลให้ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย.61 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก อาจมีผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม นั้น

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน (12 ก.ย. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 57,659 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 33,728 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีก 18,443 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,071 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกัน และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,375 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 7,800 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่าอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำต่างๆที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก และเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที

สำหรับเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ นั้น ได้มีการเตรียมพร้อม เครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 317 ชุด รถแทรกเตอร์/รถตัก จำนวน 225 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนับสนุนอื่นๆ จำนวน 410 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคตามพื้นที่ในเขตสำนักงานชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย ตลอดจนให้จัดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ หากเกิดเหตุการณ์อุทกภัย ต้องพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ