พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเกือบร้อยละ 10 โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ปราศจากความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนน เรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1.14 ล้านล้านบาท ในปี 2557 และคาดว่าจะมีรายได้สูงถึง 2 ล้านล้านบาทในสิ้นปีนี้ โดยในปีที่แล้วประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว เดินทางมาเยือนเกือบ 36 ล้านคน นับว่ามากที่สุดติด 1 ใน 10 ของโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตลาดภายในประเทศ หรือการส่งเสริมให้ไทยเที่ยวไทยก็เป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ลงท้องถิ่นให้มากที่สุด เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทินโยบาย "เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้" ตลอดปี 2561 โดยพี่น้องประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหารและค่าที่พักในการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง มาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 4 เดือน สำรวจปฏิทินท่องเที่ยว หรือหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และเทศกาลที่สำคัญ ๆ ของแต่ละจังหวัด จากสื่อออนไลน์ได้ไม่ยากในยุคดิจิทัลนี้
การกระจายรายได้และการส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่น นอกจากการท่องเที่ยวตามที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมวงจรเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้กระจายทั่วทั้งประเทศ โดยส่งเสริมการตั้งตลาดประชารัฐ เพื่อให้เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีสถานประกอบการ ได้มีพื้นที่ค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดประชารัฐ 10 ประเภท จากหลายกระทรวง กว่า 6,600 แห่งทั่วไทย รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สินค้าชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย ตลอดระยะเวลา 8 เดือนโดยมีผู้ผลิต เกษตรกร ผู้ประกอบการ มาลงทะเบียนเพื่อนำสินค้ามาขายในตลาดกว่า 1 แสนรายและได้รับการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายแล้วกว่า 96,000 ราย (หรือ ร้อยละ 91) สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้กว่า 1,200 ล้านบาท หรือกล่าวได้ว่าเราสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 1,800 บาท ต่อเดือน
ทั้งนี้ ตลาดประชารัฐจะเป็นตลาดต้นแบบในอนาคต ที่จะเน้นการสร้างมาตรฐานใหม่ คือ ความสะอาด ปลอดภัย สะดวก และไม่ใช้โฟม ลดถุงพลาสติก โดยมีการตรวจมาตรฐานเป็นระยะ ๆ ปัจจุบันก็มีตลาดที่ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีมากและดี ร้อยละ 37 โดยมีเพียงร้อยละ 19 ที่ต้องได้รับการปรับปรุงต่อไป อย่างไรก็ตาม ทุกมาตรการ ทุกนโยบาย รัฐบาลก็มุ่งเน้นการสร้างกลไกสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น เพื่อจะตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ได้จัดให้มีการอบรมและแต่งตั้ง "ผู้บริหารจัดการตลาดประชารัฐ" (CMO) ครบทุกจังหวัดแล้ว รวมทั้งเรียกมาอบรมแล้ว 25 จังหวัด 3,000 กว่าคน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ โดยตั้งคลินิกผู้ประกอบการระดับอำเภอ และเปิดให้มีการอบรมไปแล้วจำนวนมากกว่า 6,000 ราย
ในอนาคตก็จะยกระดับตลาดประชารัฐให้เป็นตลาดเพื่อการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยคัดเลือกตลาดที่มีศักยภาพ เสนอบรรจุกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ในปฏิทินปีท่องเที่ยวไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน จำนวน 171 ตลาดใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งให้เป็นตลาดรองรับสินค้าเกษตร หรือเป็นแหล่งระบายสินค้าเกษตรตามฤดูกาล ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะสินค้าล้นตลาด พร้อมขยายผลตลาดประชารัฐไปยังส่วนราชการที่มีความพร้อม ในการสนับสนุนพื้นที่ให้เกษตรกรที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาด 475 แห่งทั่วประเทศ โดยก้าวต่อไปของโครงการตลาดประชารัฐ กระทรวงมหาดไทย จะร่วมกับหน่วยงานเจ้าของตลาด ขยายตลาดประชารัฐในพื้นที่ให้เป็นไปในลักษณะตลาดกลางพืชผลทางการเกษตร คัดเลือกและสนับสนุนเกษตรกร ในการนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาดประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการ เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อม ได้นำสินค้ามาจำหน่ายในตลาด
อีกทั้งคัดเลือกตลาดประชารัฐที่มีการดำเนินการเป็นเลิศของแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นต้นแบบ และถอดบทเรียนผลความสำเร็จ สู่การดำเนินงานของตลาดประชารัฐเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ซึ่งผมเองนั้นก็เห็นว่าตลาดคือวิถีชีวิตของคนไทย แทบทุกกิจกรรมเกิดขึ้นที่ตลาด ทั้งอาหารการกิน การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ไปจนถึงการจับจ่ายซื้อหาผลิตภัณฑ์ชุมชน หากรัฐสามารถเข้าไปสนับสนุน สร้างความยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน สร้างงาน สร้างรายได้ ในระดับฐานรากได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งเงินจากกิจกรรมสีเทามาหล่อเลี้ยง วงจรเศรษฐกิจของชุมชน ทุกคนประกอบสัมมาชีพตามความถนัด และสร้างไทยไปด้วยกัน สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องยางพารา และพืชผลเกษตรชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะมีราคาตกต่ำ รัฐบาลกำลังหารือกับทุก ๆ ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างคงต้องช่วยกัน