กรมป้องกันฯ เผยยังมีสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เหลืออีก 6 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Monday September 17, 2018 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 17 กันยายน 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา และสตูล รวม 116 อำเภอ 511 ตำบล 2,822 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,824 ครัวเรือน 218,193 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย

ในปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี หนองคาย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ บึงกาฬ และนครพนม ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 จังหวัด รวม 22 อำเภอ 66 ตำบล 317 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,565 ครัวเรือน 44,324 คน แยกเป็น

ลุ่มน้ำอูนและลุ่มน้ำสงคราม 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สกลนคร น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอพรรณานิคม อำเภออากาศอำนวย และอำเภอบ้านม่วง รวม 10 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 186 ครัวเรือน 500 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 1,533 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

ลุ่มน้ำบางปะกง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี รวม 19 ตำบล 120 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,013 ครัวเรือน 26,649 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 1,040 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำ มีแนวโน้มลดลง, จ.ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี และอำเภอบ้านสร้าง รวม 9 ตำบล 63 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,963 ครัวเรือน 6,345 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง และ จ.ฉะเชิงเทรา ฝนที่ตกหนักทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงล้นทางระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอแปลงยาว อำเภอบางคล้า และอำเภอสนามชัยเขต รวม 7 ตำบล 39 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 751 ครัวเรือน 2,376 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

ลุ่มน้ำเพชรบุรี 1 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านแหลม รวม 6 ตำบล 18 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 490 ครัวเรือน 2,035 คน ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตรบางพื้นที่

ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สตูล น้ำไหลหลาก ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนกาหลง อำเภอละงู อำเภอเมืองสตูล และอำเภอควนโดน รวม 15 ตำบล 57 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,162 ครัวเรือน 6,419 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ได้กำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ