นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 20 กันยายน 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา สตูล และตราด รวม 119 อำเภอ 527 ตำบล 2,954 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72,480 ครัวเรือน 231,352 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย
โดยสถานการณ์ในปัจจุบันคลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี หนองคาย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ บึงกาฬ นครพนม ตราด สกลนคร เพชรบุรี น่าน และสตูล
แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 3 จังหวัด รวม 10 อำเภอ 44 ตำบล 311 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,834 ครัวเรือน 36,803 คน แยกเป็น
ลุ่มน้ำบางปะกง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี รวม 22 ตำบล 167 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,253 ครัวเรือน 25,744 คน พื้นที่การเกษตร คาดว่าเสียหาย 1,040 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง, จ.ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี และอำเภอ บ้านสร้าง รวม 9 ตำบล 63 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,963 ครัวเรือน 6,345 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง และ จ.ฉะเชิงเทรา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางคล้า อำเภอพนมสารคาม และอำเภอบ้านโพธิ์ รวม 13 ตำบล 63 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,618 ครัวเรือน 4,714 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ ปภ.ร่วมกับจังหวัด ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป