แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 มีมติส่งเรื่องให้สำนักคณะกรรมการงานกฤษฎีกาตีความว่า ไม้ของกลางที่กรมศุลกากรจับกุมได้กว่า 1 แสนท่อน ประกอบด้วย ไม้พะยูง ไม้กระยาเลย ไม้สัก เป็นต้น ควรให้หน่วยงานใดเป็นผู้จำหน่ายไม้ของกลางระหว่างกรมศุลกากร, กรมป่าไม้ หรือองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.)
สาเหตุที่ต้องเสนอให้ตีความ เพราะกระทรวงการคลังเสนอให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 กุมภาฯ 42 เกี่ยวกับการขายไม้ของกลางตามลักษณะความผิดว่าด้วยกฎหมายศุลกากร โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้กรมศุลกากรใช้อำนาจดุลยพินิจในการขายไม้ของกลาง เช่น การขายไม้ของกลางแก่ส่วนราชการที่ต้องการซื้อในราคา 75% ของราคาตลาด โดยหน่วยงานที่ซื้อต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ภายใน 1 ปี ส่วนไม้ที่เหลือให้กรมศุลการกรขายทอดตลาดให้ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ รวมทั้งขายให้กับผู้ซื้อที่เหมาะสมทั้งหมด
สำหรับไม้ที่กรมศุลการกรจับกุมมาได้นั้นเป็นไม้ลักลอบส่งออก ส่วนใหญ่เป็นไม้พะยูง โดยวันที่ 25 ก.พ 48-27 ก.พ 50 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 188 ราย 477 รถคอนเทรนเนอร์ หรือจำนวน 94,500 ท่อน(ปริมาณ 7,830 ลูกบาศก์เมตร) แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าไม้ของกลางบางส่วนมีรูปรอยดวงตาเป็นอักษรว่า "ต" หรือ "ย" หรือ "ป" หรือ "รข" และบางส่วนมีตัวอักษรว่า "ออป" ประทับอยู่บริเวณส่วนปลายของไม้แต่ละท่อน แสดงให้เห็นว่า ผู้กระทำความผิดน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานเจ้าของรูปรอยดวงตราประทับ และมีการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ
"คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นว่าอาจมีส่วนราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้วยก็ได้ ทั้งที่ไม้ของกลางทั้งหมดมีขนาดใหญ่และง่ายต่อการถูกตรวจพบได้" แหล่งข่าว กล่าว
ขณะเดียวกันไม้พะยูงบางส่วนลักลอบนำเข้ามาตามแนวเขตป่าชายแดนด้านประเทศ ลาว และกัมพูชา บางส่วนถูกตัดมาจากป่าไม้ของไทยบริเวณจังหวัดในภาคอีสานตอนใต้ เช่น จ.สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ เป็นต้น โดยมีมูลค่าลูกบาศก์เมตรละ 1-2 แสนบาท
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--