พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เข้าไปพักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาแล้ว เช่นเดียวกับทางตอนบนที่ปล่อยน้ำเข้าทุ่งบางระกำ เพื่อพร่องน้ำในระบบ ทำให้มีพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่อาจตกชุกในช่วงปลายฤดู โดยมั่นใจว่าปีนี้จะไม่มีสถานการณ์น้ำหลากหรือน้ำท่วมภาคกลางแน่นอน
สำหรับข้อกังวลว่าจะมีฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าปีนี้อากาศหนาวจากจีนจะมาเร็ว ดังนั้นโอกาสที่ภาคกลางจะได้รับผลกระทบจากพายุในช่วงนี้จึงมีไม่มากนัก
ซึ่งระลอกแรกรัฐบาลมีแผนทยอยนำน้ำเข้าทุ่งร้อยละ 30 - 50 ของศักยภาพการรับน้ำอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ หากปลายฤดูมีฝนตกชุกก็จะยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก
ส่วนลุ่มน้ำยมแม้ไม่มีเขื่อน แต่ทุ่งบางระกำสามารถรับน้ำได้ 550 ล้าน ลบ.ม. และขณะนี้มีน้ำนอนทุ่งอยู่ 200 ล้านลบ.ม. จึงยังรับน้ำได้อีกมากเช่นกัน หากมีฝนตกชุกก็จะทำให้น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยามีไม่มากเท่าปีก่อน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนตั้งแต่ จ.ชัยนาท จนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นที่ทุ่งโพธิ์พระยา จ. สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นทุ่งที่ต่ำที่สุดของลุ่มเจ้าพระยา เกษตรกรจะปลูกข้าวล่าช้ากว่าทุ่งอื่น 15 วัน เพราะระบายน้ำออกหมดเป็นทุ่งสุดท้าย แต่ก็พร้อมจะรับน้ำหลากหลังเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรรู้สึกพึงพอใจการปล่อยน้ำเข้าทุ่งมาก เพราะช่วยตัดวงจรของโรค แมลง และหนู อีกทั้งยังช่วยพักหน้าดิน เพิ่มธาตุอาหารในดินและลดต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายาได้อีกด้วย
"นายกฯ รับทราบว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะนำพันธุ์ปลาและกุ้งไปปล่อยที่ทุ่งบางระกำ เพื่อให้เกษตรกรจับขายเป็นรายได้เสริม และให้กรมประมงและองค์การสะพานปลาเข้าไปช่วยส่งเสริมเรื่องการแปรรูปและหาตลาดให้ โดยจะดำเนินการแบบเดียวกันนี้กับ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาด้วย ซึ่งนายกฯ พึงพอใจและขอให้ทำตามแผนที่วางไว้ให้สำเร็จ"