"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เรื่อง "คนไทยคิดอย่างไรกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส." หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ ยกเว้นการหาเสียงที่กำหนดห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากการเลือกตั้งอาจมีขึ้นเร็วในเดือนก.พ.62 ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องเร่งดำเนินการหาเสียงแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการหาเสียงเลือกตั้ง
โดยเมื่อถามว่าผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบใดจึงจะถูกใจประชาชน พบว่า อันดับ 1 ประชาชนตอบว่า เน้นสิ่งที่ทำได้จริง พูดแล้วทำจริง ทำตามที่พูด ไม่สร้างภาพ อันดับ 2 ตอบว่า มีนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน ไม่เป็นประชานิยม มีแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรม อันดับ 3 ตอบว่า ลงพื้นที่ จัดเวทีปราศรัย หาเสียงผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ไลฟ์สด
เมื่อถามว่า ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบใดที่ประชาชนไม่ชอบ พบว่า อันดับ 1 ระบุว่า คุยโม้โอ้อวด อวดอ้าง ขายฝัน ทำไม่ได้ตามที่พูดไว้ อันดับ 2 ระบุว่า ซื้อเสียง ติดสินบน กระทำผิดกฎกติกาที่กำหนด อันดับ 3 ระบุว่า หาเสียงด้วยวิธีการรบกวนผู้อื่น เช่น รถแห่เสียงดัง ติดป้ายสมัครบังทาง รบกวนเวลาส่วนตัว
ประชาชนคิดอย่างไรกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย พบว่า อันดับ 1 ตอบว่าเป็นวิธีการที่ดี ทันสมัย ช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณ อันดับ 2 ตอบว่า ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก สามารถแสดงความคิดเห็นถามตอบได้ อันดับ 3 ตอบว่า ควบคุมได้ยาก ตรวจสอบไม่ได้ อาจเกิดการใส่ร้ายโจมตีกัน โดยวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.แบบที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 ตอบว่าตั้งเวทีปราศรัย อันดับ 2 ตอบว่าใช้สื่อโซเชียลมีเดีย อันดับ 3 ตอบว่าเคาะประตูบ้าน
เมื่อถามว่าประชาชนชอบการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. บนเวทีหรือไม่ พบว่า อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ 61.88% ตอบว่าชอบ เพราะได้เจอผู้สมัครตัวจริง ได้ฟังแนวคิด วิสัยทัศน์ นโยบายการทำงาน ได้เห็นท่าทาง อากัปกริยา ในขณะที่ประชาชนอีก 38.12% ตอบว่าไม่ชอบ เพราะคนเยอะ เสียงดัง วุ่นวาย รบกวนผู้อื่น คุยโม้ โอ้อวด ต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการปราศรัย
สำหรับสื่อที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ที่ประชาชนให้ความสนใจ พบว่า อันดับ 1 คือ โทรทัศน์ 33.85% อันดับ 2 สื่อบุคคล 27.55% เช่น ตัวผู้สมัคร/หัวหน้าพรรค/ผู้สนับสนุน อันดับ 3 โซเชียลมีเดีย 20.70% และอื่นๆ 17.90% ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ รถหาเสียง แผ่นพับ ใบปลิว
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,174 คน ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2561