"นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน" (ครั้งที่ 4) โดยเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 61.63% ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ ๆ เพราะอยากเห็นคนใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ประชาชน 37.49% ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ชอบการบริหารงานแบบเก่า ๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน รู้จัก คุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่
ด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (5 อันดับแรก) พบว่า อันดับ 1 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) อันดับ 2 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ระบุว่าเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) อันดับ 4 ระบุว่าเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 5 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) และ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (5 อันดับแรก) พบว่า อันดับ 1 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 ระบุว่าเป็นพรรคอนาคตใหม่ อันดับ 5 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย
ส่วนปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 49.80% ระบุว่า เป็นบุคคลที่มีผลงานประจักษ์ ทำประโยชน์ในพื้นที่หรือต่อประเทศไทย รองลงมา 22.54% ระบุว่า ชอบพรรค/นโยบายของพรรค ที่ผู้สมัครสังกัด ขณะที่ 12.07% ระบุว่า ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว (เช่น บุคลิก หน้าตา ท่าทาง มีแนวคิดคล้ายตนเอง เป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นต้น) ส่วนอีก 10.15% ระบุว่า ต้องการได้ ส.ส. หน้าใหม่ และ 2.32% ระบุว่า ต้องการได้นายกรัฐมนตรี ตามมติของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด ส่วนอีก 1.52% ระบุว่า เป็นอดีต ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่ หรือเป็นญาตินักการเมืองเดิมในพื้นที่
สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกคนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด 5 อันดับแรก พบว่า อันดับแรกประชาชนส่วนใหญ่ 41.81% ระบุว่า ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน อันดับสอง 25.42% ระบุว่า ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ อันดับสาม 11.67% ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล อันดับสี่ 6.07% ระบุว่า ปัญหาการควบคุมราคาสินค้า และอันดับห้า 5.91% ระบุว่า ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 52.76% ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะยังไม่มีความพร้อม ไม่ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งเลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น ขณะที่ประชาชนอีก 45.16% ระบุว่า เชื่อมั่น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ และเชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของรัฐบาล โดยมีเพียง 2.08% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,251 หน่วยตัวอย่าง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 – 18 กันยายน 2561