สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบแจ้งพิกัด แบบ GNSS RTK (Real-time kinematic for improving accuracy on positioning of Global Navigation Satellite System) ซึ่งเป็นระบบที่นำไปประยุกต์ใช้งานดิจิทัล ในการระบุพิกัดสถานที่ต่างๆ และตำแหน่ง ที่มีความแม่นยำสูงมาก ลดข้อผิดพลาดด้วยสัญญาณเชื่อมต่อจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม ให้แม่นยำได้ถึงระดับเซนติเมตร
ความร่วมมือระหว่างดีป้าและดีแทคดังกล่าว จะเป็นพื้นฐานที่สามารถต่อยอดนวัตกรรมได้อย่างไม่จำกัด เช่น การใช้แผนที่ค้นหาตำแหน่งจากสมาร์ทโฟนจะทำได้แม่นยำถูกต้องมากยิ่งขึ้น หรือการใช้ระบบ GPS ติดตามยานยนต์ จะระบุตำแหน่งให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยดีป้าจะมีหน้าที่หลักในการจัดทีมทดสอบและพัฒนาระบบการให้บริการค่าปรับแก้พิกัด GNSS RTK เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทางด้านการให้บริการเชิงตำแหน่ง (location based services) และทางดีแทคจะสนับสนุนพื้นที่เสาสัญญาณในโครงการเพื่อติดตั้งอุปกรณ์รับและส่งค่าปรับแก้ GNSS RTK เชื่อมต่อกับระบบผ่านดาวเทียม ตลอดจนเข้าร่วมทดสอบติดตามผลตลอดทั้งโครงการ
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ DTAC กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริการที่ใช้งานค้นหาตำแหน่งสถานที่เชื่อมโยงพิกัดจากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่างๆ จะมีค่าผิดพลาดในการระบุตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์แบบละติจูดและลองจิจูด (Latitude/Longitude) ด้วยข้อจำกัดเทคโนโลยีแบบเดิมมีค่าความคลาดเคลื่อนได้มากถึง 5-10 เมตร จึงทำให้เกิดผลเสียในการใช้แผนที่นำทาง หรือระบุจุดหมายสถานที่ได้ไม่แม่นยำ ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และดีแทคจึงได้ร่วมมือกันปรับปรุงข้อผิดพลาดในการระบุตำแหน่งดังกล่าว เพื่อพัฒนาสู่พื้นฐานความแม่นยำต่อระบบภูมิสารสนเทศ หรือค่าความถูกต้องของพิกัดต่างๆ ทั้งในแบบอาคาร สถานที่ หรือวัตถุเคลื่อนที่เช่นพาหนะ หรือสินค้าที่กำลังถูกขนส่งไปจุดหมาย ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการพัฒนาพื้นฐานในรูปแบบที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะทำให้การแจ้งพิกัดทำได้แม่นยำโดยมีค่าผิดพลาดเพียงระดับเซนติเมตรเท่านั้น
สำหรับโครงการดังกล่าว จะเริ่มทดลองปรับปรุงค่าส่งสัญญาณพิกัดในสมาร์ทซิตี้ เมืองอัจฉริยะ ของไทยทั้ง 7 จังหวัด เช่น กทม ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง เพราะสมาร์ทซิตี้เป็นเมืองที่ใช้นำร่องในการทดลองใช้งานดิจิทัลรูปแบบใหม่ จึงต้องใช้ความแม่นยำสูงในการแสดงชุดข้อมูลพิกัด ดีแทคเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะทำให้สามารถพัฒนาโซลูชั่นส์ผนวกกับระบบโมบายล์อินเทอร์เน็ตยุคใหม่อย่าง 4G TDD 2300 MHz และ 5G เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมใหม่อย่างยานยนต์ไร้คนขับ ที่จะมีการทดสอบการใช้งานในดิจิทัลปาร์ค โดยดีแทคยังมีแผนการนำข้อมูลพิกัดที่แม่นยำมากนี้ มาพัฒนาสู่บริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น อีกด้วย