นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงการณ์ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนขอเรียกร้องให้ หน.คสช. ใช้อำนาจพิเศษในการปกป้องต้นสักที่กำลังถูกโค่นล้มจากป่าของ อ.อ.ป. และป่าอื่น ๆ ทั่วประเทศเพื่อเหลาให้กลมตามแบบ และลำเลียงมาก่อสร้างรัฐสภาเสียโดยพลัน เพื่อใช้อำนาจในทางที่ชอบและควรสรรเสริญในการมีส่วนร่วมในการปกป้องป่าและไม้สักไม่ให้ถูกฆาตกรรมที่อ้างว่าชอบด้วยกฎหมายเสีย โดยการสั่งให้มีการเปลี่ยนแบบ โดยใช้วัสดุอื่นมาทดแทนไม้สัก เช่น โพลีเอ็ททีลีน เรซิ่น พลาสติกหุ้มเหล็ก ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุศาสตร์ ณ วันนี้สามารถสร้างและเลียนแบบเนื้อไม้สักได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไปตัดไม้สักจากป่าได้อีกต่อไป ถ้า หน.คสช.สั่งการได้ ก็เป็นการยืนยันว่าท่านรักป่า รักต้นไม้ รักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ถ้าทำไม่ได้นโยบายทวงคืนผืนป่าควรจะถูกยกเลิกไปเสีย อายเด็กและชาวโลกเขา เพราะการปฏิบัติสองมาตรฐานไม่มีใครในโลกเขายอมรับกัน และหากยังนิ่งเฉยสมาคมฯจะนำความขึ้นฟ้องศาลเพื่อระงับการตัดไม้ทำลายป่าดังกล่าวภายใน 15 วันนี้ต่อไป
ตามที่รัฐสภาได้มีโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยรัฐสภาได้ว่าจ้างบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนที่กลุ่มกิจการร่วมค้า สงบ 1051 เป็นผู้ชนะการออกแบบ โดยต้องจัดให้มีเสาไม้ประดับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ทั้งภายในและภายนอกอาคารตามแบบสัญญาจ้าง และตามแบบสถาปัตยกรรมที่กำหนดว่าต้องใช้ไม้สักเหลากลม ไม่คดงอ ไม่มีกระพี้ มีมีตาไม้ที่ทำให้เสียความแข็งแรงและสวยงามเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ยาว 5 เมตร จำนวน 4,534 ต้น ซึ่งจะต้องใช้ไม้สักที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีขึ้นไป ความดังทราบแล้วนั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า การได้มาซึ่งไม้สักขนาดดังกล่าว จะต้องมีการตัดต้นสักขนาดใหญ่ที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไปมาเหลาให้ได้ขนาดตามต้องการ และการให้ได้มาซึ่งไม้สักที่มีขนาดและคุณลักษณะดังกล่าวต้องตัดต้นสักไปกว่า 10,000 ต้นจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อเลือกสรรให้ได้ตามสเปกจำนวน 4,534 ต้น เพราะบางต้นที่ตัดมาแล้วจะมีสภาพไม่สมบูรณ์ มีตา มีโพรง มีรูเจาะ คดงอ ก็จะถูกคัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
การตัดต้นสักขนาดใหญ่ที่มีอายุหลายปี ในพื้นที่ป่าและเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ตาม พรบ.ป่าไม้ 2484 ย่อมไม่กระทบแต่เฉพาะต้นไม้ที่ทำการตัดโค่น แต่จะเป็นการทำลายต้นไม้เล็กๆอื่นที่ขึ้นอยู่เคียงข้างต้นสักเหล่านั้นด้วย และที่สำคัญสังคมไทยจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ไม้สักที่นำมาเหลาทำโครงเสาไม้ประดับรัฐสภา เป็นไม้ที่ผ่านการตีตราอนุญาตแล้วทุกต้น ไม่มีการสวมตอ
ทั้งนี้รัฐสภาเป็นสถานที่ที่ใช้ในการบัญญัติกฎหมายเพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ทว่ารัฐสภาแห่งใหม่นี้กลับยอมรับหรือส่งเสริมให้มีการตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อมาสร้างอาคารที่หรูหราให้กับผู้ทรงเกียรติได้ใช้เป็นสถานที่ทำงาน มันช่างเป็นการย้อนแย้ง จนไม่อาจจะทราบได้ว่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติในอนาคตแต่ละท่าน จะยืนอภิปรายเพื่อออกกฎหมาย ท่ามกลางเสาไม้สักที่ถูก "ฆาตกรรม" มาจากป่า 4,534 ต้นได้สง่างามอย่างไร