นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อวางแผนการเตรียมการรับสถานการณ์น้ำหลากภาคตะวันตกและภาคใต้ แผนการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง รวมทั้งการหารือถึงการปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. พบว่า ในช่วง 7 วันหลังจากนี้ยังคงมีปริมาณฝนที่ตกในหลายพื้นที่แต่ไม่มากนัก แต่มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงวันที่ 21-22 ตุลาคม 2561 คือพื้นที่ภาคใต้ตอนบน บริเวณจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่จะได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้มีฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมการป้องกันและการให้ความช่วยเหลือหากเกิดสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ไว้แล้ว ในส่วนของ 38 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมที่ผ่านมา ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในปัจจุบัน พบว่า มีอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง ที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำต้นทุนน้อย คือ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง, อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำมีจำกัด ทำให้กรมชลประทานมีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และไม่สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกนาปรังได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการวางแผนเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนไว้ให้ได้มากที่สุด กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนจะดำเนินการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย รวมทั้งพื้นที่การเกษตรด้านท้ายอ่างฯที่ต้องการน้ำ ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะเร่งเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับการผลิตน้ำประปาชนบทอีกด้วย เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุดและทุกภาคส่วนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 นั้น ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้เคยออกประกาศ แจ้งว่าฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2561 (ประกาศเมื่อวันที่ 28 พ.ค.61) ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศ สทนช.จึงขอปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป แต่หากมีเหตุวิกฤติที่ต้องดำเนินการเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากน้ำ หรือเกิดเหตุน้ำท่วมต่อเนื่องและรุนแรง สทนช.จะทำการเปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์น้ำและช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีต่อไป