พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผย ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน กับรมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 5 (ADMM-Plus) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในวันนี้ (20 ต.ค.) โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมปลัดกระทรวงกลาโหม ของไทยเข้าร่วมประชุมนั้น ที่ประชุมรับทราบรายงานพัฒนาการล่าสุดของอาเซียน พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมมองการต่อต้านภัยคุกคามของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกร่วมกัน โดยที่ประชุมมีความกังวลร่วมกัน ถึงภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ที่ขยายตัวเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีไซเบอร์เป็นเครื่องมือสนับสนุนและเชื่อมโยง จึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนความร่วมมือ วางแผนป้องกันและรับมือกันมากขึ้น
นอกจากนั้นปัญหาทะเลจีนใต้ที่เปิดกว้างและเสรี จำเป็นต้องได้รับการเคารพและยอมรับกติกาหรือกฎหมายระหว่างประเทศร่วมกันมากขึ้น ดังนั้นการสื่อสารร่วมกันอย่างใกล้ชิดสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจกันจึงมีความสำคัญยิ่ง ต่อความสงบร่วมกันของภูมิภาค จากนั้นได้ลงนามร่วมกันในแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงปฏิบัติ
ต่อจากนั้นได้กระทำพิธีส่งมอบการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน กับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา จากประเทศสิงคโปร์ให้กับประเทศไทย โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณประเทศสมาชิก ที่ร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถและเตรียมความพร้อม สำหรับการรับมือกับความท้าทายของภูมิภาคในอนาคต พร้อมกับย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน ในปี 62 ที่จะส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมองไปสู่อนาคตอย่างมีสมดุล ในทั้งสามเสาความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด ความมั่นคงที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความเข้มแข็ง การบูรณาการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือด้านความมั่นคง และการสนับสนุนกิจกรรมคาบเกี่ยวระหว่าง 3 เสาความร่วมมือ โดยดำรงไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางอาเซียน เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ความความมั่นคงของภูมิภาคปัจจุบัน มีเสถียรภาพมากขึ้น จากพัฒนาการและความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของกระทรวงกลาโหมอาเซียน และประเทศคู่เจรจา โดยพัฒนาเป็นกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ ที่เข้มแข็งและเป็นรูปธรรมของประชาคมระหว่างประเทศ ในการเสริมสร้างการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในมิติต่างๆร่วมกัน เพื่อการรับมือกับความท้าทายของภูมิภาคในอนาคต ซึ่งเสถียรภาพของเสาหลักความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียนดังกล่าว มีความสำคัญยิ่งต่อความเชื่อมั่นและผลประโยชน์ของทุกประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนในภาพรวม