พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2561 กล่าวว่า ที่ประชุมได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ในพื้นที่ภาคใต้ และเตรียมการเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายเดือนนี้ รวมถึงเตรียมการรับมือช่วงหน้าแล้งที่จะมาถึง
นอกจากนี้ มีความกังวลและเป็นห่วงกับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 จำนวน 6 เขื่อน แบ่งเป็นภาคเหนือ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงและเขื่อนแม่มอก ภาคอีสาน 2 เขื่อน ได้แก่เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำนางรอง ภาคกลางอีก 2 เขื่อน คือ เขื่อนกระเสียวและเขื่อนทับเสลา ซึ่งต้องมีการเตรียมการบริหารจัดการน้ำโดยในเขตชลประทาน จะมีการรวางแผนความเร่งด่วนการใช้น้ำ การวางแผนการทำเกษตรต่อเนื่อง และการสำรองน้ำใช้ในฤดูกาลต่อไป
ส่วนนอกเขตชลประทาน ก็จะให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมจัดทำแผนที่พื้นที่พื้นที่มีความเสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ และยังต้องเตรียมแผนเพิ่มเติมช่วยเหลือประชาชน เช่น เครื่องสูบน้ำบาดาล และแจกจ่ายน้ำ โดยทุกหน่วยจะต้องทำงานอย่างบูรณาการ ในการเตรียมการช่วยเหลือภัยแล้งที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และเชื่อว่าหากมีแผนบริหารจัดการน้ำก็จะไม่กระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่ได้ลงมือเพาะปลูกไปแล้ว
ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูก ต้องหาแนวทางรับมือในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก และสร้างอาชีพอื่นทดแทน เช่น เลี้ยงปศุสัตว์ และการจ้างงานในช่วงหน้าแล้ง โดยรัฐบาลประเมินว่า จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งใน 23 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ครอบคลุมพื้นที่ รวม 2.49 ล้านไร่
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในช่วงน้ำท่วมและแล้งว่า ในเดือน ก.ค.57 ถึง ก.ย.61 ใช้งบประมาณในการช่วยเหลือและเยียวยา 18,594 ล้านบาท
"หากย้อนไปในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ ในเดือน ก.ค.54 ถึง เดือน มิ.ย.57 ใช้งบช่วยเหลือและเยียวยาไปถึง 89,755 ล้านบาท เป็นการแสดงให้เห็นว่าหากมีการเตรียมการอย่างมีระบบจะมีส่วนช่วยลดงบประมาณในการช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชนได้เป็นอย่างมาก"พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
สำหรับการเตรียมการรับมือในช่วงฤดูฝน 62 จะมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการรักษาระดับน้ำตามที่มีอยู่เดิม ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการกำหนดมาตรฐานระดับน้ำไว้เพียงระดับเดียว แต่วันนี้ที่ประชุมจะปรับหลักเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นได้ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับปริมาณน้ำในแต่ละปี