นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีบริษัทต่างชาติยื่นคำขอจดสิทธิบัตร "สารสกัดจากกัญชา" ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้พิจารณาเรื่องนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อหาช่องทางในการดำเนินการให้ถูกต้องตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร กำหนดไว้ เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความซับซ้อน และมีกระบวนการดำเนินการพอสมควร แต่ในที่สุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สารสกัดจากกัญชาเป็นสารสกัดจากพืช และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร กำหนดว่า จุลชีพ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช และสัตว์ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ จึงได้ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยใช้มาตรา 30 ที่กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจยกเลิกคำขอดังกล่าวได้
สำหรับคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาที่ได้ใช้อำนาจของอธิบดีกรมฯ ยกเลิกคำขอนั้น เป็นคำขอเลขที่ 1101003758 ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.53 และกรมฯ ได้ตรวจสอบเบื้องต้น และประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 ลักษณะการขอถือสิทธิในสิทธิบัตรคือ แคนนาบิไดออล (CBD หรือสารสกัดกัญชา) ประมาณกว่า 400 มิลลิกรัม ใช้ในการป้องกันอาการชัก
ส่วนมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร กำหนดไว้ว่า เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 แล้ว ถ้าปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 (ซึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ที่ยื่นคำขอ) หรือมาตรา 14 (คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ) ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตร รวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 และให้ประกาศโฆษณาคำสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
"มีคำขอที่ยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาเพียงคำขอเดียวจากทั้งหมด 11 คำขอ ซึ่งได้ให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปดำเนินการต่ออย่างรอบคอบตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของรายละเอียดที่จะดำเนินการต่อไป แต่ตอนนี้พูดได้ว่าคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นที่สนใจของสังคมมีข้อยุติแล้ว โดยใช้มาตรา 30 ดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้" นายสนธิรัตน์ กล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในจำนวนคำขอจดสิทธิบัตรทั้ง 11 คำขอ ยังได้มีกรณีการละทิ้งคำขอไปแล้ว 2 คำขอ เพราะภายหลังการประกาศโฆษณาแล้ว ผู้ยื่นคำขอไม่มายื่นให้ตรวจสอบความใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้คำขอจะไม่อยู่ในระบบอีกต่อไป ส่วนคำขอที่เหลืออีก 8 คำขอ ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา แต่เป็นคำขอที่มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบก็ดำเนินการได้ต่อตามกฎหมาย ซึ่งสถานะล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ 5 คำขอ และประกาศโฆษณารอให้ผู้ยื่นขอตรวจสอบอีก 3 คำขอ
ส่วนกรณีที่ผู้กังวลว่า พ.ร.บ.สิทธิบัตร จะกระทบต่อการแก้ไขกฎหมายยาเสพติด ที่ปรับให้กัญชาเป็นยาเสพติดที่นำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า กฎหมายสิทธิบัตรเป็นเรื่องของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัย และประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อนักวิจัยไทย โดยยังสามารถนำสารสกัดจากกัญชามาพัฒนาต่อยอดได้ ทั้งการทำเป็นตำรับยา หรือองค์ประกอบของยาที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบ หรือทำเป็นสารสังเคราะห์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถขอยื่นจดสิทธิบัตรได้