นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เกิดอุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่รวม 4 อำเภอ 16 ตำบล 71 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม และอำเภอพรหมคีรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,305 ครัวเรือน 18,270 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
"เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 4 อำเภอ 16 ตำบล 71 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม และอำเภอพรหมคีรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,305 ครัวเรือน 18,270 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง" นายชยพล กล่าว
โดย ปภ.ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งการระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การขนย้ายสิ่งของและการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
ก่อนหน้านี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 9-12 ธันวาคม 2561 อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม รวมถึงทะเลมีคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนสะสม ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในระยะนี้
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล พื้นที่เฝ้าระวังดินโคลนถล่ม ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอบางสะพาน และอำเภอทับสะแก) ชุมพร (อำเภอสวี อำเภอท่าแซะ อำเภอหลังสวน อำเภอละแม อำเภอปะทิว อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอทุ่งตะโก) สุราษฎร์ธานี (อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอวิภาวดี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง และอำเภอคีรีรัฐนิคม) และนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม อำเภอนบพิตำ อำเภอลานสกา อำเภอพิปูน และอำเภอพรหมคีรี) ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
โดย ปภ.ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณฝนสะสม ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป