นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (14 ธ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มี มีมติปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร รถประจำทางสำหรับรถร้อน ทั้งรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ ขสมก. ในอัตรา 1 บาท ส่วนรถปรับอากาศก็ให้ปรับขึ้นระยะละ 1 บาทด้วย พร้อมทั้งปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารสำหรับรถบขส. และรถร่วมบริการ บขส. ในอัตรา 10% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.62 ซึ่งการพิจารณาปรับค่าโดยสารดังกล่าว อยู่ภายใต้ความเหมาะสมกับต้นทุนปัจจุบันที่ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงขึ้น ทั้งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำ และราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่แม้จะมีการอุดหนุนจากบมจ.ปตท. (PTT) แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
สำหรับการปรับอัตรารถเมล์ร้อน ร่วมบริการขสมก. จากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์ ขสมก. จากเดิม 6.50 บาท เป็นไม่เกิน 10 บาท ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท จากเดิม 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 12-24 บาทต่อเที่ยว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติปรับอัตราค่าโดยสารสำหรับรถเมล์ปรับอากาศใหม่ อาทิ รถเมล์เอ็นจีวี จากเดิมเก็บในอัตรา 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 4 กม.แรก 15 บาท, 10-16 กม. 20 บาท และ 16 กม.ขึ้นไป 25 บาท ส่วนรถเมล์ร้อนที่เป็นรถใหม่ สามารถเก็บอัตราค่าโดยสารได้ในราคา 12 บาท โดยรถเมล์ใหม่ทั้งรถร้อน และรถปรับอากาศที่จะเก็บค่าโดยสารในอัตรานี้ได้ต้องเป็นรถที่ติดอุปกรณ์ส่วนควบตามเงื่อนไขที่ กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น ติดจีพีเอส, กล้องซีซีทีวี, อุปกรณ์ความปลอดภัย และติดตั้งระบบ e-ticket เป็นต้น ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.62
ทั้งนี้ กรมขนส่งทางบก ได้จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่าโดยสาร ซึ่งคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ได้นำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งพบว่า ที่ผ่านมา ไม่มีการปรับค่าโดยสาร ให้สอดคล้องกับต้นทุนในปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนราคาเอ็นจีวี อยู่ที่ 16.73 บาทต่อกก. ซึ่งได้รับการอุดหนุนและช่วยเหลือจาก ปตท.ให้ใช้ในราคา 10.62 บาทต่อกก. โดยอุดหนุนที่ 40,000 บาทต่อเดือนต่อคัน ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก.ได้แจ้งหยุดเดินรถ 565 คัน จากรถที่มี 3,712 คัน และหยุดเดินรถโดยไม่แจ้งอีกกว่า 1,000 คัน หรือมีรถโดยสาร ออกจากระบบไป 18% ส่งผลให้มีรถวิ่งให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ประชาชนต้องรอรถเป็นเวลานานและต้องใช้รถสาธารณะอื่น แทน ซึ่งมีค่าบริการที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะนำมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อนวันที่ 21 ม.ค. 62 หากรัฐมีนโยบายที่จะช่วยเหลือเยียวยาทั้งประชาชนหรือเยียวยาผู้ประกอบการ เช่น อุดหนุนค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น รวมถึงพิจารณาให้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับรถเอกชนได้ หรือมาตรการภาษีอื่น ๆ เป็นต้น คณะกรรมการฯก็จะพิจารณาการปรับค่าโดยสารนี้อีกครั้ง