น.ส.ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษา Workforce of the Future ประจำปี 2561 ของ PwC ว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีจะส่งผลต่อการทำงานในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การบริหารจัดการกำลังคนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในอนาคต โดยพบว่า องค์กรทั่วโลกส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า ความสามารถขององค์กรในการบริหารบุคลากรด้านใดที่จะมีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของพวกเขา แต่ยังมีหลายองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงมือปฏิบัติ
จากผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหารกลับยังไม่มีมาตรการในการดำเนินการเรื่องความสามารถขององค์กรในการบริหารบุคลากร ซึ่งการศึกษานี้เรียกสิ่งเหล่านั้นว่า ‘ความเสี่ยง’ โดยพบว่า บริษัทต่างๆ กำลังประสบปัญหาในการนำข้อมูลและการวิเคราะห์ขั้นสูงมาช่วยประกอบการพิจารณาด้านกำลังคนให้ดีขึ้น ซึ่ง ‘ความเสี่ยง’ สามอันดับแรกขององค์กรเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์กำลังคน การใช้งานเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน และพฤติกรรมของคน
แม้ว่ากว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้พิจารณาด้านกำลังคนนั้นมีความสำคัญ แต่มีแค่เพียง 27% เท่านั้นที่ใช้จริง นอกจากนี้ มีเพียง 38% ที่ได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำนายและตรวจสอบช่องว่างของทักษะในการทำงาน ขณะที่ 31% ได้ใช้การวางแผนกำลังคนที่มีความซับซ้อนและการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และ 28% ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยลดอคติในการจ้างงาน และสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ ผู้นำธุรกิจที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจากทวีปอเมริกาเหนือ มีความก้าวหน้ามากกว่าองค์กรที่ดำเนินธุรกิจลักษณะเดียวกันในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรปตะวันตก แต่อย่างไรก็ตาม เกือบทุกอุตสาหกรรมต่างพบว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยากในการนำข้อมูลและการวิเคราะห์มาใช้ในองค์กร ยกเว้นอุตสาหกรรมการให้บริการทางด้านสุขภาพ ซึ่งได้มีการนำข้อมูลมาใช้เพื่อระบุทักษะต่างๆ และขจัดอคติในการจ้างงานและการให้รางวัล
น.ส.ภิรตา กล่าวเพิ่มเติมว่า งานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลไม่ได้เป็นเพียงแค่งานในความรับผิดชอบของแผนกไอที หรือฝ่ายการตลาดอีกต่อไป วันนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องเริ่มหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพนักงานทำได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ตนมองว่าประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะคนไทยเรามีขนบธรรมเนียมเรื่องการให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ และมีความเกรงใจต่อกัน ซึ่งเมื่อนำการวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาใช้ จะทำให้เห็นข้อเท็จจริง และลดปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่ก่อให้เกิดความอคติทั้งในกระบวนการประเมินผลงาน จ้างงาน หรือแม้กระทั่งการให้รางวัล
"เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จในอนาคต องค์กรไทยจำเป็นต้องคิดทบทวนว่า ต้องการแรงงานในรูปแบบใด หรือมีความชำนาญในด้านใด ซึ่งรวมไปถึงการริเริ่มนโยบายต่างๆ ที่จะช่วยดึงดูดทาเลนต์ที่มีความสามารถอย่างแตกต่างหลากหลาย เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่า สงครามแย่งชิงทาเลนต์ของไทยนั้นค่อนข้างจะครุกรุ่นเลยทีเดียว ดังนั้นหากองค์กรมีวิธีการที่จะเข้าถึงแรงงาน จะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวในการจ้างงาน เมื่อต้องการแรงงานที่มีความสามารถในบางทักษะ หรือที่องค์กรต้องการ ณ เวลานั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที"
นอกจากนี้ การมีพนักงานซึ่งมีความสามารถและมีแนวคิดริเริ่มเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ยังเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในองค์กรใหญ่ๆ ซึ่งสรุปอย่างคร่าวๆ ก็คือ ตอนนี้เหล่าองค์กรใหญ่ต่างๆ กำลังทำงานร่วมกันกับสตาร์ทอัพเพื่อสร้างนวัตกรรม และธุรกิจใหม่ๆ นั่นเอง ซึ่งในอนาคต เราจะเห็นการจับมือกันมากขึ้นขององค์กรใหญ่ๆ และสตาร์ทอัพเล็กๆ ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความพร้อมที่จะเข้าถึงนวัตกรรมและทาเลนต์ได้อย่างที่ต้องการ ในขณะที่ได้รับไอเดียและทักษะต่างๆ จากแหล่งที่กว้างขึ้น
อนึ่ง รายงาน Workforce of the Future ประจำปี 2561 ของ PwC เป็นการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานในวันพรุ่งนี้ โดยอิงจากการสำรวธุรกิจและฝ่ายทรัพยากรบุคคล จำนวน 1,246 ราย จาก 79 ประเทศ ซึ่ง 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล และ 41% เป็นผู้บริหารธุรกิจ และ 13% เป็นผู้นำระดับสูง