สำนักงาน กสทช. ย้ำให้โอเปอเรเตอร์รวมถึงผู้ประกอบการวิทยุและผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกราย ดูแลโครงข่าย และเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารตามแผนภัยพิบัติเพื่อรับมือพายุโซนร้อน ปาบึก ที่จะเข้าสู่อ่าวไทยช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. นี้ และให้ศูนย์สายลมประสานงานสมาคมวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารกรณีเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 5 ยืนยันแล้วว่า "พายุดีเปรสชั่น" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็น "พายุโซนร้อนปาบึก" เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยพายุลูกนี้กำลังเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน ก่อนจะเข้าสู่ทะเลอ่าวไทยประมาณวันที่ 2-3 มกราคม 2562 และจะขึ้นฝั่งในจังหวัดภาคใต้ของไทย ประมาณวันที่ 3-4 มกราคมนี้ จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก มีน้ำสะสมเพิ่มขึ้นตามจังหวัดต่างๆจนอาจเกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ และทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร โดยจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามันที่อาจจะได้รับผลกระทบจาก "พายุโซนร้อนปาบึก" คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง สตูล ระนอง พังงา ภูเก็ต โดยฝั่งอ่าวไทย จะได้รับผลกระทบก่อนนั้น
สำนักงาน กสทช. ได้ย้ำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ประกอบกิจการวิทยุ และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกรายดูแลโครงข่าย และเตรียมความพร้อมของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์ประจำที่ และระบบโทรคมนาคม ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งติดตามข่าวสารและพร้อมให้ความร่วมมือในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ และรับแจ้งเหตุเตือนภัยและรายงานสถานการณ์ และได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. ภาค 4 และสำนักงาน กสทช. เขตทุกเขต ที่รับผิดชอบพื้นที่เขตภาคใต้ในจังหวัดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงให้ติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก และประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และเตรียมการรับมือตามแผนประสานงานกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินของสำนักงาน กสทช.
โดยขณะนี้สำนักงาน กสทช. ในจังหวัดพื้นที่ เตรียมรับมือพร้อมให้ความร่วมมือและประสานงานกับทางจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ประกอบกิจการวิทยุ และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ในพื้นที่แล้ว
นายฐากร กล่าวว่า ศูนย์สายลม สำนักงาน กสทช. ได้ประสานงานไปยังสมาคมวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารกรณีเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้กรณีที่การสื่อสารหลักทางโทรศัพท์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงให้ติดตามสถานการณ์ ประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ในส่วนของศูนย์คอลเซ็นเตอร์สำนักงาน กสทช. 1200 พร้อมรับแจ้งสถานการณ์ต่างๆ จากประชาชนในพื้นที่ โดยประชาชนสามารถติดต่อแจ้งเหตุการณ์ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
"สำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ" นายฐากร กล่าว