นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศ แจ้งเตือนฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศระหว่างวันที่ 3 – 5 มกราคม 2562 นั้น ในพื้นที่ภาคใต้ มีท่าอากาศยานที่ ทอท.บริหารงานอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ซึ่ง ทอท.ได้มีการเฝ้าระวังพร้อมติดตามข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าสถานการณ์จากหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดย ทภก.และ ทหญ.ได้มีการประชุมหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กรมอุตุนิยมวิทยา สายการบิน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ฯลฯ
รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากพายุ "ปาบึก" และจัดเจ้าหน้าที่บริการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งยกเลิกเที่ยวบินแต่อย่างใด
สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ ทอท.ได้ตรวจสอบความพร้อมของรางระบายน้ำโดยรอบ รวมทั้งเตรียมการระบายน้ำเพื่อมิให้ท่วมขังในเขต Airside และเพิ่มความถี่ในการตรวจทางวิ่ง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากมีน้ำท่วมขังจะประสานศูนย์บรรเทาและป้องกันสาธารณภัย เพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้ ทอท.จะพิจารณาจุดตั้งเครื่องสูบน้ำมิให้กระทบต่อชุมชนรอบข้าง นอกจากนั้น ทอท.ยังได้ทดสอบความพร้อมของระบบแจ้งเตือนหากเกิดสภาพอากาศเลวร้าย (Adverse Weather) และสภาวะทัศนวิสัยต่ำ (Low Visibility) ให้มีความพร้อมใช้งาน ตลอดจนประสานสายการบินในการจอดและจัดเก็บอุปกรณ์ภาคพื้น ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยาน พร้อมทั้งตรวจสอบอากาศยานขนาดเล็กและอุปกรณ์ภาคพื้นต่างๆ ให้มีการยึดโยงเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
ในกรณีที่ระบบ FIDS (Flight Information Display System) ขัดข้อง ทอท.จะประสานกับหอบังคับการบิน เพื่อขอรายละเอียดข้อมูลของเที่ยวบินในการขึ้นลง รวมถึงเวลาของเที่ยวบินที่กำหนดลงจอด และจะแจ้งข้อมูล ที่ถูกต้องไปยังเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของท่าอากาศยานภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อให้บริการข้อมูลแก่ผู้โดยสาร รวมทั้งยังได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิงอากาศยาน รถดับเพลิงอาคาร และอุปกรณ์กู้ภัย ในการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงเขตอากาศยานอุบัติเหตุ และพร้อมปฏิบัติการดับเพลิงได้ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ตลอด 24 ชั่วโมง