นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ปฏิบัติการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยสถานการณ์พายุโซนร้อน "ปาบึก" (Pabuk) และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) เมื่อเวลา 09.00 น. พบจุดศูนย์กลางของพายุโซนร้อน "ปาบึก" แล้วบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 75 กม.ต่อชม. เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็ว 25 กม.ต่อชม. ห่างจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 150 กม. คาดการณ์ว่าพายุดังกล่าวจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ อ.ปากพนัง อ.เมือง อ.ท่าศาลา และ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราชในช่วงเย็นของวันนี้
โดยขณะที่พายุเคลื่อนตัวผ่าน จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี จะส่งผลกระทบให้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค.62 ตั้งแต่ จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสตูล โดยในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ดังกล่าวลดลงและเป็นฝนฟ้าคะนอง จากนั้นพายุจะเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ตอนบนผ่านลงไปสู่ทะเลอันดามัน ในวันที่ 6 ม.ค.62
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงต่อจากนี้ไปคือ เมื่อพายุเคลื่อนเข้าฝั่งจะเกิดแรงลมทำให้เกิดน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นและทำให้เกิดคลื่นซัดฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย คาดการณ์ว่าจะมีความสูงของคลื่นประมาณ 3-5 เมตร โดยเฉพาะ จ.ชุมพร (อ.ละแม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.สวี อ.เมือง) จ.สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าฉาง อ.ดอนสัก อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พุนพิน อ.ท่าชนะ อ.ไชยา) จ.นครศรีธรรมราช (อ.ท่าศาลา อ.เมือง อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร) และจากการคาดการณ์ความสูงคลื่นสูงสุดของแบบจำลอง สสนก. ในวันนี้ ในพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ (1) อ.ระโนด จ.สงขลา ความสูงคลื่นประมาณ 2.48 ม.รทก. (เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ในเวลา 13.00 น. (2) บริเวณเกาะปราบ จ.สุราษฎร์ธานี คาดการณ์จะมีคลื่นสูงประมาณ 3.04 ม.รทก. ในเวลา 18.00 น. และ (3) อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ความสูงขึ้นประมาณ 3.0 ม.รทก. ในเวลา 18.00 น.
จังหวัดในพื้นที่ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายประชาชน และเตรียมความพร้อมด้านการให้ ความช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว นอกจากนั้น ยังคงต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสตูล ที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังได้โดยพบว่าปริมาณฝนสะสม 1 วัน ในพื้นที่ จ.สงขลา มากกว่า 200 มม. และใน จ.ยะลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มากกว่า 150 มม.
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ สทนช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอ่างเก็บน้ำเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่า ทั้ง 4 แห่งยังมีพื้นที่ว่างในอ่างเพียงพอรองรับปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไปได้
ทั้งนี้ จากการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของ สทนช.พบว่า ยังคงมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 7 แห่ง จะมีแนวโน้มปริมาณน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกระทูน อ่างเก็บน้ำดินแดง จ.นครศรีธรรมราช อ่างเก็บน้ำคลองจะกระ อ่างเก็บน้ำคลองบึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำห้วยสามเขา จ.เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่ง สทนช. ได้มอบหมายกรมชลประทานเร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่ง ให้สอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำดังกล่าวให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำน้อยที่สุด