นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ร่วมกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สสส. นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง กับ นโยบายความปลอดภัยโดนใจประชาชน พบว่า เมื่อถามถึงความต้องการเห็นรัฐบาลที่เลือกตั้งเข้ามาใหม่ให้ความสำคัญและจริงจังแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน มีงบประมาณและการกำกับติดตามอย่างเข้มงวด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.5 ต้องการเห็นค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ13.5 ต้องการเห็นค่อนข้างน้อยถึงเฉย ๆ ที่น่าพิจารณาคือ
เมื่อถามถึงนโยบายใหม่ ๆ ที่รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งควรนำมาสู่การปฏิบัติ พบว่าจำนวนมากหรือร้อยละ 42.0 ระบุ รถมอเตอร์ไซค์ต้องได้สิทธิในการเดินทางอย่างปลอดภัย โดยกำหนดให้มีช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์ (เลนมอเตอร์ไซค์) หรือ มีการแชร์ถนนร่วมกับรถยนต์ ร้อยละ 40.4 ระบุ อุบัติเหตุแล้วมีคนตายต้องมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ร้อยละ 35.5 รัฐบาลต้องได้รับการประเมินและรายงานผลงานในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนต่อสาธารณะและสภาผู้แทนราษฎร์ ร้อยละ 34.6 ระบุ รถรับส่งนักเรียนฟรี โดยรัฐอุดหนุนให้มีรถรับส่งนักเรียนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย และร้อยละ 34.2 ระบุ เพิ่มความคุ้มครองเยียวยาประกันภัยหลังเกิดเหตุ หากเสียชีวิตประกันภัยจ่ายไม่น้อยกว่าศพละ 1 ล้านบาท
เมื่อสอบถาม ความคิดเห็นต่อการดีเบต (แข่งขัน ระดมความคิด) เรื่องความปลอดภัยทางถนนของพรรคการเมือง พบว่า ร้อยละ 26.5 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 63.8 เห็นด้วย ร้อยละ 7.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 1.9 ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งกับการมีนโยบายความปลอดภัยทางถนนของพรรคการเมือง พบว่า ร้อยละ 20.9 ระบุมีผลอย่างยิ่ง ร้อยละ 56.4 มีผล ร้อยละ 14.5 ไม่มีผล และร้อยละ 8.2 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนให้ความสำคัญระดับมากกับนโยบายของพรรคการเมืองเรื่องความปลอดภัยทางถนน คือ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.58 คะแนน
สำนักวิจัยซูเปอร์โพลทำการสำรวจภาคสนามจากประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,094 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ถึง 11 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา