(เพิ่มเติม) สมาคมรพ.เอกชน ค้านคุมค่ารักษา-ค่ายา ระบุอาจขัดกม.สาธารณสุข-กระทบลงทุนด้านนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Monday January 14, 2019 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกแถลงการณ์คณะกรรมการสมาคมโรงพยาบาลเอกชนระบุว่า หากมีการกำกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ไม่มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัย และจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยด้อยลง ทั้งที่ปัจจุบันการรักษาพยาบาลของประเทศไทยไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก และนับเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยเช่นกัน

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมติให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุม อาจขัดกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ที่กำหนดในบัญชีแนบท้ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริหารอื่นของสถานพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงตามมาตรา 32(3) พ.ศ.2561 ไว้แล้ว

โดยเฉพาะในข้อ 4.1 ค่ารักษาพยาบาลยาและเวชภัณฑ์ค่าบริการทางการแพทย์ (Drugs and Medical Supplies, Hospitat Medical Expenses) หมายถึง บริการของสถานพยาบาลด้วยการใช้เทคโนโลยีเครื่องมืออุปกรณ์ยาและเวชภัณฑ์โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อการตรวจวินิจฉัยป้องกันบำบัดบรรเทารักษาโรคและบริบาลผู้ป่วยบริการทางการแพทย์ประกอบด้วยบัญชีบริการ ดังนี้ โดยเฉพาะ (3.) ข้อกำหนดมาตรฐานบัญชีบริการ

(3.1) ยาและสารอาหารทางหลอดเลือดรวมต้นทุนการจัดซื้อจัดหาการขนส่งการจัดเก็บรักษาที่ได้มาตรฐานการใช้สถานที่เครื่องมืออุปกรณ์วัสดุภัณฑ์ระบบสารสนเทศทางเภสัชกรรมและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริการของบุคลากรที่จำเป็นในขั้นตอนการจัดเตรียมและแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์จนถึงการบันทึก และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ฒ.ค่าบริการทางเภสัชกรรม (Pharmacy Services)

1.จัดทำบัญชีบริการตามกลุ่มรายการมาตรฐานดังนี้

(1.1) บริการทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก (Outpatient Pharmacy Service) (1.2) บริการทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน (Inpatient Pharmacy Service) (1.3) บริการติดตามและจัดการการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากยา (Medication Therapy Management Service) (1.4) บริการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน (Inpatient Pharmaceutical Care Service) (1.5) บริการทางเภสัชกรรมเตรียมยาพิเศษ ได้แก่ ยาปลอดเชื้อเคมีบำบัดและสารอาหารทางหลอดเลือด (Special Drug Preparation (Aseptic-Chemotherapy Drug & Parenteral Nutrition) และ (1.6) ค่าบริการทางเภสัชกรรมอื่นๆ (Other Pharmaceutical Services)

"หากมีการกำหนดราคากลางออกมามองว่าจะขัดแย้งกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล เนื่องจากพ.ร.บ.นี้ไม่มีการกำหนดราคาในแต่ละขั้นตอน ซึ่งจะรวมต้นทุนการขนส่ง และการจัดเก็บ รวมถึงตัวควบคุมอุณหภูมิยา และอื่น ๆ โดยทั้งหมดมันจะต้องมีการลงทุนเยอะ ไม่เหมือนร้านขายยาที่เราไปซื้อยามา แล้วไปวางไว้ ไม่ต้องเก็บ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐ มีคนลงทุนให้ไม่เอามาคิด ซึ่งสิ่งที่เราทำทั้งหมดนี้ต้องสอดคล้องกับกฎหมาย ไม่ใช่เราคิดเองได้ และยังมีเรื่องเภสัชกรรม ที่ต้องบวกไปกับค่ายา ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยแยก"

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า หาก กกร. มีการกำหนดราคากลาง และจะมีการบังคับใช้ในวันที่ 13 เม.ย.62 อาจจะส่งผลต่อต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนในการลงทุนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัย และจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยด้อยลง ดังนั้น ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน อยากให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ มีการหารือร่วมกันให้มีความชัดเจนก่อนที่จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ขณะที่สมาคมฯ เสนอให้โรงพยาบาลรัฐเข้ามาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561 เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐอยู่ภายใต้กฎกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าแพทย์ ค่าเภสัชกรรม ค่าลงทุนอุปกรณ์ ค่าบริหารจัดการ รวมไปถึงค่าเช่าสถานที่ จัดหาที่ดิน ฯลฯ มาจากงบประมาณของภาครัฐทั้งสิ้น ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นต้องมีการลงทุนในค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยตนเองทั้งหมด

นพ.สุรพงษ์ อำพันวงษ์ ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่มีการร้องเรียนว่าแพงเกินจริงนั้น ยืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนกำหนดค่ารักษาพยาบาล ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยประชาชนมีสิทธิในการเลือกใช้บริการทางการแพทย์ไปตามสิทธิ ซึ่งปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลแบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งรองรับอยู่ 5-16 ล้านคน, สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทเดิม) รองรับอยู่ 46-48 ล้านคน, สิทธิประกันสังคม รองรับอยู่ 10-14 ล้านคน และสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิหน่วยงานรัฐอื่นๆ อีกทั้งหากอยู่ในขั้นวิกฤต สามารถเข้ารับการรัษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง

นอกจากนี้หากต้องการข้ามสิทธิโรงพยาบาลเอกชน ก็ได้ประกาศราคาค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขไว้อยู่แล้ว ซึ่งสามารถสอบถามกับโรงพยาบาลนั้นๆ ได้

"อยากให้ประชาชนเลือกโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับสิทธิของท่านที่มีอยู่ ไม่ใช่ให้รัฐมากดราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน"นพ.สุรพงษ์ กล่าว

สำหรับกระแสต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการกำกับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชน สมาคมฯ แถลงการณ์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

1. ค่ายาในโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงจริงหรือ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 และล่าสุดที่ปรับปรุงใน พ.ศ. 2561 ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนได้ถือปฏิบัติโดยตลอดจนปัจจุบัน โดยใน พ.ร.บ.มีการกำหนดมาตรฐานทางบัญชีในรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลไว้อย่างละเอียด ดังนั้น ค่ายาในโรงพยาบาลเอกชน จึงประกอบด้วยรายละเอียดมากมาย มิใช่เป็นเพียงตัวยาอย่างเดียว

2. คนไทยล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลจริงหรือ สมาคมฯ ระบุว่า คนไทยทุกคนสามารถไปรับการรักษาพยาบาลตามสิทธิของตนเอง ทั้งสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เรียกว่า UCEP ที่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง ดังนั้น คนไทยในปัจจุบัน "เป็นไปไม่ได้ที่จะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล"

โรงพยาบาลเอกชน จัดเป็นโรงพยาบาลทางเลือก แม้กระนั้นยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมรับดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบประกันสังคม ซึ่งช่วยรับผิดชอบดูแลคจนถึงที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผลจากการสำรวจพบว่า 64.8% ของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รายงานว่าเข้าร่วมในโครงการประกันสุขภาพ และอีก 35.2% ไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว สำหรับประเภทประกันสุขภาพ พบว่า มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน 62.7% ให้บริการในประเภทกองทุนเงินทดแทน, ส่วน 60.4% ให้บริการในประเภทประกันสุขภาพเอกชน, 55.5% ให้บริการในประเภทการประกันสังคม, 32.9% ให้บริการในประเภทกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราช และ 29.3% ให้บริการสำหรับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

3. โครงการ Medical Hub ของประเทศไทย ผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน มีจำนวนทั้งสิ้น 4.23 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มารับบริการที่เป็นผู้ป่วยนอกชาวต่างประเทศ 95.6% และผู้มารับบริการเป็นผู้ป่วยในชาวต่างประเทศ 4.4%

ในด้านผลการดำเนินกิจการปี 59 พบว่า การดำเนินกิจการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึง 99,427 ล้านบาท ซึ่งมาจากมูลค่ารายรับจากการดำเนินกิจการ 234,327.2 ล้านบาท หักด้วยค่าใช้จ่ายขั้นกลางในการดำเนินการ 134,900.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ สมาคมฯ ระบุว่า การที่มีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ทำให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยมาก โดยที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนรายงานถึงเหตุผลที่ชาวต่างประเทศเข้ามารักษา กล่าวคือ 46.4% รายงานว่าราคาค่ารักษาพยาบาลไม่แพง, 37.5% ระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นมิตรกับผู้ป่วย, 34.6% ระบุว่าความสามารถของไทย, 27.4% ระบุว่าแพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญหลายด้าน และอีก 24.5% ระบุว่าเทคโนโลยีทันสมัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ