สธ.ติดตามเฝ้าระวังปัญหาฝุ่นละออง แนะ ปชช.กลุ่มเสี่ยงใช้หน้ากากป้องกันให้ถูกวิธี

ข่าวทั่วไป Tuesday January 15, 2019 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ได้ประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ เพื่อติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยยกระดับจาก EOC ของกรมอนามัยที่เปิดมาตั้งแต่เริ่มพบปัญหาฝุ่นละออง เมื่อเดือน ธ.ค.61

พร้อมทั้งกรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด และจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งมีการสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนทราบความเสี่ยงและป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองได้

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ได้ออกประกาศค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กแบ่งเป็น 5 สีตามระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามค่าคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง โดยสีส้มและสีแดงเป็นสีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยคุณภาพอากาศระดับสีส้ม (เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) คือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงให้ลดการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง

แต่หากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง (เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เป็นระดับที่มีผลต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองด และกลุ่มเสี่ยงให้งดการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อออกนอกบ้าน หากมีอาการผิดปกติเช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็น

สำหรับการเลือกสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้น ขอให้ประเมินความเสี่ยงของตนเองว่ามีความเสี่ยงสูงหรือไม่ เช่น อาศัยอยู่ในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีค่า PM 2.5 สูง และกลุ่มคนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ต้องทำงานหนักกลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น ตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนงานที่ทำงานก่อให้เกิดฝุ่น เป็นต้น ควรสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ ตั้งแต่มาตรฐาน N95 ขึ้นไป และใส่ให้ถูกวิธีจึงจะป้องกันได้ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวได้แก่ หอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรขอคำปรึกษากับแพทย์ประจำตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ