ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การหาเสียงกับการเลือกตั้ง 2562" โดยเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองว่าจะสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้จริง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 53.28% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา 23.84% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย ขณะที่อีก 20.48% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก โดยมีเพียง 2.40% ระบุว่าเชื่อมั่นมากที่สุด
สำหรับนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จะมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 42.32% ระบุว่า มีผลต่อการตัดสินใจค่อนข้างมาก รองลงมา 28.08% ระบุว่าไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจ ส่วนอีก 15.36% ระบุว่า มีผลต่อการตัดสินใจมาก และที่เหลือ 14.24% ระบุว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลย
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการซื้อ – ขายเสียง ช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 78.16% ระบุว่ามีแน่นอน รองลงมา 18.88% ระบุว่าไม่มีแน่นอน และที่เหลือ 2.96% ระบุว่าไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความกระตือรือร้นของประชาชนที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ หลังจากไม่มีการเลือกตั้งมา 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 72.64% ระบุว่ามีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น รองลงมา 19.68% ระบุว่าไม่ค่อยมีความกระตือรือร้น และที่เหลือ 7.68% ระบุว่าไม่มีความกระตือรือร้นเลย
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงลักษณะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 30.32% ระบุว่า เข้าถึงประชาชน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข อันดับสอง 15.36% ระบุว่า มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ อันดับสาม 14.16% ระบุว่า มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้ อันดับสี่ 12.24% ระบุว่า ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ อันดับห้า 9.84% ระบุว่า มีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดีและเป็นที่ยอมรับ
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 มกราคม 2562