นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า "จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคหัดในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561–30 มกราคม 2562 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคหัดเป็นกลุ่มก้อนรวม 18 เหตุการณ์ (เป็นเหตุการณ์ที่พบผู้ป่วยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป) โดยพบผู้ป่วย 2-60 รายต่อเหตุการณ์ หรือมีค่าเฉลี่ย 10 รายต่อเหตุการณ์ ในปีนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2562 นี้ พบรายงานผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนแล้ว 6 เหตุการณ์ และสถานที่พบเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุด ได้แก่ โรงเรียน ร้อยละ 33.33 ที่พัก (บ้าน/คอนโด/ห้องเช่า/หอพัก) ร้อยละ 22.22 โรงงาน ร้อยละ 16.67 เรือนจำและศูนย์การค้า ร้อยละ 11.11 และค่ายทหารร้อยละ 5.56"
"การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบเหตุการณ์ผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ทั่วถึง โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles โดยเชื้ออยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายและในอากาศ ผู้ป่วยโรคหัดสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนมีไข้ ไปจนถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ แสบตา ตาแดง ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นจะมีผื่นลักษณะนูนแดงขึ้นจากหลังหูลามไปที่ใบหน้าและทั่วร่างกาย ผื่นจะคงอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งโรคหัดเป็นโรคที่อันตรายในกลุ่มเด็กทารกหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อน หากได้รับการรักษาล่าช้า อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยไข้ออกผื่น ในเด็กเล็กควรรับวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) และให้ซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองเมื่อเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคภายในระยะ 72 ชั่วโมงอาจพิจารณาให้วัคซีน MMR ทันที หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย