พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. กำหนดบทนิยามคำว่า นายจ้าง, ลูกจ้าง, สภาพการจ้าง, ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง, ปิดงาน, นัดหยุดงาน, สมาคมนายจ้าง, สหภาพแรงงาน, สหพันธ์นายจ้าง, สหพันธ์แรงงาน เป็นต้น
3. หมวด 1 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้ทำเป็นหนังสือกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ประกอบด้วย เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน ค่าจ้าง การเกษียณอายุหรือครบสัญญาจ้าง เป็นต้น ให้นายจ้างนำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมาจดทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ตกลงกัน
4. หมวด 2 วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน กำหนดให้เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่พ้นกำหนดเวลาหรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ กรณีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายอาจตกลงกันให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป หรือนำข้อพิพาทนั้นไปเจรจาตกลงกันเอง หรือตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือปิดงานหรือนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อกฎหมายก็ได้
นอกจากนี้ ได้กำหนดให้กิจการบางประเภท เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ต้องส่งข้อพิพาทแรงงานให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาด อาทิ กิจการไฟฟ้า กิจการประปา กิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมทั้งกิจการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเห็นว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้น อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
5. หมวด 3 การปิดงานและการนัดหยุดงาน กำหนดให้นายจ้างอาจปิดงาน หรือลูกจ้างอาจนัดหยุดงานได้ แต่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้
6. หมวด 4 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กำหนดองค์ประกอบ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงาน การชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้อง การเจรจา การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงานและการปิดงานตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
7. หมวด 5 คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรี และเสนอความเห็นในการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ ต่อรัฐมนตรี
8. หมวด 6 คณะกรรมการลูกจ้าง กำหนดให้มีคณะกรรมการลูกจ้าง เพื่อทำหน้าที่ประชุมหารือกับนายจ้างเพื่อจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง กำหนดข้อบังคับในการทำงานพิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง ตลอดจนหาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ
9. หมวด 7 สมาคมนายจ้าง หมวด 8 สหภาพแรงงาน และหมวด 9 สหพันธ์นายจ้างและสหพันธ์แรงงาน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการจัดตั้ง การเข้าเป็นสมาชิก และการดำเนินกิจการของสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้าง โดยสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงานมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่สมาชิก และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
10. หมวด 10 การกระทำอันไม่เป็นธรรม กรณีที่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ห้ามนายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง เช่น การเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน กำลังจะเข้าเป็นสมาชิกหรือเป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน เป็นต้น
11. หมวด 11 บทกำหนดโทษ กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่กระทำฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ที่ปรึกษานายจ้าง ที่ปรึกษาลูกจ้าง ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน สมาคมนายจ้างสหภาพแรงงาน หรือผู้ชำระบัญชีก็ตาม และให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว