นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไอกรนของประเทศไทย พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) จำนวนผู้ป่วยไอกรนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วย 74 รายต่อปี เสียชีวิตปีละ 0-3 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 1-3 เดือน จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อุบลราชธานี รองลงมาคือ ยะลาและลำพูน ส่วนสถานการณ์โรคไอกรนในปี 2562 นี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2562 พบผู้ป่วยแล้วจำนวน 13 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่า ในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยไอกรนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การอาศัยแออัด และการได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินระบบหายใจ โดยมีอาการสำคัญคือ ไออย่างรุนแรงต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ไอเป็นชุด มีเสียงหายใจดังฮู้บระหว่างหรือหลังไอ และอาเจียนหลังไอ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองและปอดอักเสบโดยเฉพาะทารกและเด็กเล็ก สามารถแพร่เชื้อผ่านทางไอ จามรดกันโดยตรงกับผู้สัมผัสที่ไม่มีภูมิคุ้มกันและเกิดโรคเกือบทุกราย การให้ยาฆ่าเชื้อแก่ผู้ป่วยช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ รวมทั้งแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น ซึ่งกรมควบคุมโรคขอแนะนำว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือ วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก จะฉีดที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422