AUPOLL เผยปัญหาปากท้อง-สิ่งแวดล้อม-การเมือง ทำคนไทยเครียดเพิ่มขึ้น,หวังเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังเลือกตั้ง

ข่าวทั่วไป Thursday February 28, 2019 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทย ไตรมาส 4 ในภาพรวมพบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยคนไทยส่วนใหญ่ 78.52% มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน มากกว่าเรื่องอื่นๆ รองลงมา 72.47% คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะที่ 56.30% เครียดเรื่องการงาน เป็นต้น

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับความเครียดของคนไทยในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน สิ่งแวดล้อม และการเมืองพุ่งสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยความเครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินเพิ่มขึ้น 11.07% ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 27.84% รวมถึงความเครียดเรื่องการเมืองที่เพิ่มขึ้นถึง 31.10% ซึ่งความเครียดในด้านต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกไม่มีความสุข 61.56% และเบื่อหน่าย 72.72% เป็นต้น

จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ สินค้าราคาแพง หนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง และการแบ่งพรรคแบ่งพวก และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยช่วงนี้เป็นช่วงการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลถึงความวุ่นวายทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจที่ดูจะคาราคาซังมานาน รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบและหน่วยงานต่างๆ ควรเตรียมความพร้อมและวางแผนการทำงานเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่เกิดปัญหาขึ้นก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ เมื่อให้คนไทยคาดการณ์สภาพปัญหาที่ต้องประสบในชีวิตประจำวันภายหลังการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่คิดว่าสภาพปัญหาต่างๆ ยังคงเป็นเหมือนเดิม ได้แก่ ปัญหาการจราจร, ปัญหาฝุ่นละออง มลพิษ, ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาอาชญากรรม ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียดมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่ปัญหาสำคัญที่คนไทยหวังว่าน่าจะดีขึ้น คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน และคุณภาพชีวิตหลังการเลือกตั้ง

อนึ่ง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) ทำการสำรวจกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,016 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ