ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 161 เสียง ให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมาย จากนี้จะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาต่อไป
ในวันนี้ เป็นการประชุมในวาระ 2 และ 3 ในมาตราที่เหลือต่อจากวานนี้ (27 ก.พ.) โดยระหว่างการประชุม สนช. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้มีการแก้ไขสาระสำคัญ 5 ประเด็น คือ มาตรา 4 ว่าด้วยการกำหนดให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับไม่ใช้บังคับในหลายกรณี เช่น การเก็บรวมรวม เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ส่วนตนเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น รวมไปถึงการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการคลังของรัฐ หรือการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานจะต้องจัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย
มาตรา 16 (8) กำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของพ.ร.บ.อย่างน้อยทุก 5 ปี
มาตรา 21/1 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดออก ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการกำหนดให้ พ.ร.บ.นี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพของบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นอันไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจนเกินสมควรหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
มาตรา 26 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กำหนดว่า ห้ามไม่ให้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม สภาพความพิการ
หมวด 3/1 ว่าข้อจำกัดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตัดออกทั้งหมด
สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นการล่วงละเมิดดังกล่าวกระทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงควรให้มีกฎหมายนี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไป