พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความสัมพันธ์อันดีด้านแรงงานระหว่างไทย-เมียนมา และประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ตลอดจนผลประโยชน์โดยรวมของนายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว รวมทั้งเป็นการเพิ่มผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี
ทั้งนี้ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ จะอยู่ที่บริเวณตลาดทะเลไทย ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยจะดำเนินการเฉพาะกลุ่มแรงงานเมียนมาเท่านั้น ไม่รวมคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ ให้บริการแรงงานใน 2 กลุ่ม คือ 1.แรงงานเมียนมาที่ต้องการเปลี่ยนเอกสารประจำตัวเป็นหนังสือเดินทาง[แรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติหรือจัดทำทะเบียนประวัติในประเทศไทยที่ถือหนังสือเดินทาง (PP) หนังสือเดินทางชั่วคราว (TP) หรือเอกสารรับรองบุคคล (CI)] โดยทางการเมียนมาใช้คำว่า กลุ่มคน Function A และ 2.แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานใกล้ครบกำหนด 4 ปีที่ต้องการจัดทำเป็นหนังสือเดินทางฉบับใหม่ และมีความประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานตาม MOU เมื่อวาระการจ้างงานครบ 4 ปี แล้ว โดยทางการเมียนมาใช้คำว่า กลุ่มคน Function B
สำหรับวาระการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตาม MOU จะครบกำหนด 4 ปี ในปี พ.ศ.2562 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 140,256 คน (ตัวเลขประมาณการจากการออกใบอนุญาตทำงานที่ออกให้กับแรงงานเมียนมาเมื่อปี พ.ศ.2558)
"ที่ผ่านมาหลังจากอยู่ครบ 4 ปี แรงงานต้องเดินทางออกนอกประเทศไป 30 วันจึงจะกลับเข้ามาได้ แต่กรรมวิธีของทางการเมียนมาไม่เสร็จภายใน 30 วัน ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงดังกล่าวไป" พล.ท.วีรชน กล่าว